19 เมษายน ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เฉียดโลก

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 19 April 2017

19 เมษายน ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เฉียดโลก

วันที่ 19 เมษายน 2560 เวลา 19:24 น. ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 650 เมตร จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดที่ระยะทาง 1.8 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 4.6 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ 

 

รูปที่ 1 ภาพจำลองเส้นทางการโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ขณะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 19 เมษายน 2560 เส้นสีฟ้าแสดงเส้นทางการโคจรของดาวเคราะห์น้อย เส้นสีขาวแสดงวงโคจรของดาวเคราะห์  ภาพ : www.ssd.jpl.nasa.gov

 

        ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25  ถูกค้นพบในเดือนพฤษภาคม 2557 โดยนักดาราศาสตร์ของหอดูดาวแคทาลินา สกาย เซอร์เวย์ เมืองทูซอน รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา จากการตรวจสอบวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ พบว่าครั้งนี้เป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบสี่ร้อยปี และจะไม่เกิดขึ้นอีกอย่างน้อยในรอบ 500 ปี และเนื่องจากเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ามันมีขนาดใหญ่กว่ากรณีอุกกาบาตตกที่เมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย ประมาณ 60 เท่า นักดาราศาสตร์จึงเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด 

 

        จากการคำนวณอย่างละเอียดทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อมั่นว่า ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 จะโคจรเฉียดโลกไป เช่นเดียวกับกับดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ ที่โคจรเฉียดโลก โดยไม่เกิดผลกระทบใดๆ ต่อโลกและมนุษย์ แต่สำหรับนักดาราศาสตร์แล้ว การมาเยือนในระยะใกล้ของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เช่นนี้ นับเป็นโอกาสดียิ่งที่จะสังเกตการณ์โดยใช้เรดาร์เพื่อศึกษาขนาดและรูปร่างของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้

 

        ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ขณะโคจรใกล้โลกที่สุด ระหว่างวันที่ 19 - 20 เมษายน 2560 จะมีความสว่างมากที่สุด คาดว่าความสว่างปรากฏอยู่ในช่วงแมกนิจูด 10-11 สามารถมองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้วขึ้นไป ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 19 เมษายน จะเริ่มสังเกตเห็นได้บริเวณกลุ่มดาวมังกร ตั้งแต่เวลา 20:00 น. เป็นต้นไป

 

        เหตุการณ์ที่มีดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก (ต่ำกว่า 10 เมตร) โคจรเข้าใกล้โลกมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ดาวเคราะห์น้อย 2017 FN1 โคจรเฉียดโลกที่ระยะทางประมาณ 51,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 0.17 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ แต่เหตุการณ์ที่มีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ (เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า  100 เมตร) โคจรเข้ามาใกล้โลกไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ครั้งล่าสุดคือเมื่อ 13 ปีก่อน ในเดือนกันยายน 2547 คือ ดาวเคราะห์น้อย 4179 Toutatis  โคจรเข้าใกล้โลกที่ระยะประมาณ 1.2 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 4 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ 

 

รูปที่ 2 ตำแหน่งดาวเคราะห์น้อย 2014JO25 ในช่วงหัวค่ำวันที่ 19 เมษายน บริเวณกลุ่มดาวมังกร

 

เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าตลอดเวลา ในช่วงเวลาหัวค่ำของวันที่ 19 เมษายน ถึงเช้าวันที่ 20 เมษายน ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 จะเคลื่อนที่ผ่านจากกลุ่มดาวมังกรเข้าสู่บริเวณกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อ ก่อนลับขอบฟ้าในเวลารุ่งเช้า

 

รูปที่ 3 ตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ในรุ่งเช้าวันที่ 20 เมษายน บริเวณกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อ 

 

        ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 จะสังเกตการณ์ได้อีกครั้ง ในค่ำคืนของวันที่ 20 เมษายน 2560 ในช่วงหัวค่ำบริเวณกลุ่มดาวผมของเบเรนิซ (Coma Berenices)

 

 

รูปที่ 4 ตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ในช่วงค่ำของวันที่ 20 เมษายน บริเวณกลุ่มดาวผมของเบเรนิซ (ซ้าย) และในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 21 เมษายน บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (ขวา) 

 

        เมื่อใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อย จะเห็นเป็นจุดแสง คล้ายดาวฤกษ์ แต่ดาวเคราะห์น้อยจะโคจรในระบบสุริยะด้วยความเร็วสัมพัทธ์กับโลกสูงถึง 120,816 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเปลี่ยนตำแหน่งเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ด้วยความเร็ว 140 อาร์ควินาที/นาที หมายความว่า เราจะเห็นจุดแสงเคลื่อนที่ตัดผ่านดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง มีการเปลี่ยนตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา

 

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/2937-2014-jo25-near-earth-2017
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)