2014 MU69 เป้าหมายต่อไปของยาน New Horizons ณ สุดขอบระบบสุริยะ

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 21 February 2018

2014 MU69 เป้าหมายต่อไปของยาน New Horizons ณ สุดขอบระบบสุริยะ


          ยานอวกาศ New Horizons ของนาซาได้รับความสนใจจากทั่วโลกจากภารกิจบินผ่านดาวพลูโตเมื่อเดือนกรกฏาคม ปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา ทำให้มนุษย์เราได้เห็นภาพของดาวพลูโตที่มีรายละเอียดชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมา ภารกิจต่อไปของยานลำนี้คือการมุ่งหน้าไปยังวัตถุที่อยู่ไกลออกไปบริเวณขอบของระบบสุริยะที่มีชื่อว่า 2014 MU69 ซึ่งเป็นวัตถุที่เก่าแก่พอที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอายุขัยของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ได้ 



ภาพที่ 1 ภาพจำลองของยาน New Horizons กับวัตถุ 2014 MU69 


           ดาวพลูโตและ 2014 MU69 เป็นวัตถุที่อยู่ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt Object หรือ KBO) ซึ่งเป็นแถบที่ประกอบไปด้วยวัตถุมากมายอยู่บริเวณส่วนนอกสุดของระบบสุริยะ วัตถุเหล่านี้เป็นวัตถุที่เกิดขึ้นในระบบสุริยะยุคแรกๆ โดยเมื่อเวลาผ่านไปวัตถุเหล่านี้จะถูกแรงโน้มถ่วงของวัตถุที่ใหญ่กว่าอย่างดาวเคราะห์เหวี่ยงออกไปทำให้มีวงโคจรใหม่ 


           การค้นหาเป้าหมายต่อไปของยาน New Horizons เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2011 โดยนักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินค้นหา  แต่ก็ยังไม่พบวัตถุใดๆ จนกระทั่งปี ค.ศ. 2014 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้พบวัตถุจำนวน 5 วัตถุที่มีความเป็นไปได้ โดยหนึ่งในนั้นคือ 2014 MU69 ซึ่งในขณะนั้นมีชื่อว่า 1110113Y หลังจากที่มีการตรวจสอบและยืนยันวงโคจรแล้ว ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2015 ทีมภารกิจจึงได้เลือก 2014 MU69 เป็นเป้าหมายต่อไปของยาน New Horizons


           นอกจากนี้ 2014 MU69 ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในด้านการประหยัดเชื้อเพลิงของยานอีกด้วย วัตถุนี้ใช้เชื้อเพลิงในการเดินทางที่น้อยกว่าวัตถุอื่นๆ ซึ่งทำให้สามารถสำรองเชื้อเพลิงไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น อย่างไรก็ตามการที่จะทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วงได้นั้นนักดาราศาสตร์จะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง เช่น ต้องทราบตำแหน่งที่แน่นอนของยานสำรวจและเป้าหมายตลอดเวลา ตลอดจนคุณสมบัติของวัตถุนั้นๆอย่างขนาดรูปร่างและการสะท้อนของพื้นผิว และต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าวัตถุนี้ไม่ได้อยู่ท่ามกลางเศษฝุ่นในอวกาศที่อาจสร้างความเสียหายให้กับยานสำรวจได้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างรูปถ่ายและสเปกตรัมของวัตถุนี้ 


           เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักสำรวจ New Horizons เพิ่งได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากดาวฤกษ์พื้นหลังสามดวงซึ่ง 2014 MU69 จะโคจรผ่านไปในประมาณต้นเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกรกฏาคมของปีนี้ ถ้าหากวงโคจรนี้ได้คำนวณไว้อย่างถูกต้องจากการสังเกตการณ์ของฮับเบิลแล้ว ในขณะที่ 2014 MU69 โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์เหล่านั้นแสงของดาวจะถูกบดบังไปเพียงไม่กี่วินาที ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ทราบถึงขนาดและรูปร่างโดยรวมของเป้าหมายได้ 


           ท้ายที่สุดนี้ในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 2019 ยานสำรวจจะเดินทางไปใกล้ตำแหน่งของ 2014 MU69 และมันจะกลายเป็นวัตถุที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยมียานอวกาศสำรวจไปเยือนมา ภาพรายละเอียดและข้อมูลต่างๆ ที่ได้จะปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับ Kuiper Belt และ KBOs ทำให้ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคแรกเริ่มของระบบสุริยะต่อไป


URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3511-2014-mu69-new-horizons
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)