Elon musk กับ อนาคตของการเดินทางที่ไร้พรมแดน

ข่าวประจำวันที่: 
Thu 12 October 2017

Elon musk กับ อนาคตของการเดินทางที่ไร้พรมแดน

          หากจะพูดถึงผู้ที่มีแนวคิดหวือหวาที่สุดเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศอันดับต้นๆของโลกคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก อีลอน มัสค์ (Elon musk) ผู้บริหารบริษัทสเปซเอ็ก ล่าสุดเขาได้ออกมาแถลงในงานประชุมการบินอวกาศนานาชาติ (InternationAstronauticalCongres) ที่ประเทศออสเตรเลียสำหรับการเดินทางที่ไร้พรหมแดนด้วยจรวดรุ่นใหม่ BFR ที่จะมาแทนจรวด Falcon 9 ที่ใช้งานอยู่ ณ ปัจจุบัน และจรวด Falcon Heavy(สามารถบรรทุกของน้ำหนักได้ถึง 30 ตัน) ที่จะเปิดตัวทดลองใช้งานในปีหน้านี้

 

          จรวด BFR นั้นถูกออกแบบมาเพื่อใช้เดินทางจากโลกไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่น แต่คุณมัสค์ เขาต้องการให้ BFR เป็นจรวดขนส่งทั้งคนและสินค้าระหว่างเมือง ระหว่างประเทศ ระหว่างทวีป และแนวคิดที่สุดเหวี่ยงคือ เดินทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ สถานีอวกาศนานาชาติ และดาวอังคาร ในระยะเวลาอันสั้น 

 

 

          ถึงวันนั้น วันที่ BFR เปิดตัวใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ มันจะสามารถบรรทุกส่งผู้โดยสารและสินค้าได้ถึง 150 ตันต่อหนึ่งเที่ยว ด้วยความเร็วสูงมากๆ ตามที่ อีลอน มัสค์ แถลงในที่ประชุมคือมันจะสามารถเดินทางด้วยความเร็วสูงสุด 27,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผู้โดยสารจะต้องนั่งเรือออกไปขึ้นจรวด BFR ซึ่งจะจอดอยู่ที่ฐานปล่อยจรวดกลางทะเล จากนั้นจรวดจะถูกยิงออกไปนอกโลก และค่อยดิ่งกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกพร้อมกับการลงจอดอย่างนิ่มนวลและแม่นยำสูงมาก ณ ฐานจอดจุดหมายปลายทางโดยไม่ต้องกางล้อออกเหมือนเครื่องบินเวลาจะร่อนลงจอดที่ท่าอากาศยาน

  

          จากวีดีโอที่ อีลอน มัสค์นำเสนอในที่ประชุม เส้นทางการบินจากนิวยอร์ก – เชียงไฮ้ นั้น จรวด BFR จะใช้เวลาในการเดินทางแค่ 39 นาที

 

          จากกรุงเทพ – ดูไบ นั้นใช้เวลาเพียง 27 นาที เท่านั้น รวมถึงการเดินทางในหลายๆ เส้นทางบนโลกนั้นไม่จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

 

 

          ความเจ๋งของจรวด BFR คือวิศวกรนั้นบีบให้ต้นทุนในการผลิตและใช้งานจรวดลำนี้ต่ำลง ด้วยการใช้แล้วใช้ซ้ำนำกลับมาใช้ใหม่จรวดทั้งลำจะถูกดันขึ้นสู่วงโคจรนอกโลกด้วยเครื่องยนต์หลัก 6 ชุด ที่ใช้มีเทนเป็นเชื้อเพลิงขับดัน และสามารถเติมเชื้อเพลิงได้ในอวกาศ

 

          การแถลงการดังกล่าวอาจจะฟังดูแล้วโลกสวยเกินไป แต่นี่คือไอเดียสุดเจ๋งที่เรียกได้ว่าไม่เคยมีใครเคยคิดเคยทำมาก่อนแน่ๆ หากสำเร็จเราจะสามารถเดินทางไปดูคอนเสริต์ของนักร้องดังที่เดินสายโชว์ในอีกซีกโลกของเรา พร้อมกับกลับมาประชุมกับเพื่อนร่วมงานเราได้ในระยะเวลาภายใน 1 วัน

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3392-elon-musks-bfr-rocket
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)