ITAP สวทช. จัดสัมมนาเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการผลิตงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม

ข่าวประจำวันที่: 
Fri 8 December 2017

ITAP สวทช. จัดสัมมนาเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการผลิตงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม

          โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดอบรมสัมมนา “เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตและสร้างนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมเพื่อการแข่งขันอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมกว่า 40 คน

 

 

          โปรแกรม ITAP สวทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เพื่อรองรับแนวโน้มการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจัดอบรมสัมมนาหัวข้อ “เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตและสร้างนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมเพื่อการแข่งขันอย่างยั่งยืน” เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทยให้ได้รับความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตและสร้างนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในการเชื่อม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเชื่อมขั้นสูง แนวทางการเชื่อมสำหรับงานซ่อมบำรุง และการซ่อมบำรุงด้วยเทคโนโลยีการพ่นพอกผงโลหะ โดยวิทยากรจากภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตลอดจนช่วงเล่าสู่กันฟังจากผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ กับการพัฒนาระบบคุณภาพการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในรถอุตสาหกรรมหนัก โดย ผู้แทนจาก บจก.เอสซีเอสแฟบริเคชั่น

 

  

 

         ทั้งนี้ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะ และชิ้นส่วนอุตสาหกรรม จะมุ่งเน้นการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวนมาก เช่นผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรอุตสาหกรรม งานโครงสร้างเหล็ก การต่อเรือ พลังงานและปิโตรเคมี เป็นต้น โดยแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีการกระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีความหนาแน่นมากในภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ยังคงพึ่งพาระบบการผลิตแบบใช้แรงงานเข้มข้น เน้นการผลิตแบบจำนวนมาก มุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต มีการแข่งขันในตลาดสูง ดังนั้น สถานประกอบการต้องเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งมีความจำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและสร้างนวัตกรรม

 

URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/11663-20171207-itap
แหล่งที่มา: 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.)