นักดาราศาสตร์ค้นพบการเกิดดาวฤกษ์ใน ‘ลมหลุมดำ’ เป็นครั้งแรก
นักดาราศาสตร์ค้นพบการเกิดดาวฤกษ์ใน ‘ลมหลุมดำ’ เป็นครั้งแรก
ทีมนักดาราศาสตร์ยุโรปใช้กล้องโทรทรรศน์วีแอลที (VLT ย่อมาจากVery Large Telescope) ทำการศึกษาระบบกาแล็กซีที่กำลังชนกับอีกกาแล็กซีหนึ่งจนสามารถค้นพบการเกิดขึ้นของดาวฤกษ์ด้วยกระบวนการใหม่ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน

ดาวฤกษ์เหล่านั้นเกิดขึ้นภายในลมที่ออกมาจากหลุมดำมวลยิ่งยวดซึ่งลมหลุมดำเป็นการแผ่รังสีที่รุนแรงและแก๊สที่กระจายออกมาอย่างรุนแรงโดยรอบเป็นรูปทรงกลมด้วยความเร็วสูงมากจนเกิดการบีบอัดแก๊สให้กลายเป็นดาวฤกษ์ นักดาราศาสตร์พบว่าดาวฤกษ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีอายุน้อยโดยมีอายุอยู่ในระดับหลายสิบล้านปี มีความสว่างและอุณหภูมิสูงกว่าดาวฤกษ์ที่เกิดในสภาพแวดล้อมอื่นๆที่ไม่รุนแรงขนาดนี้
ไม่นานนี้นักดาราศาสตร์เชื่อว่าโดยทฤษฎีแล้วปรากฏการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ยังไม่มีใครสามารถตรวจจับได้มาก่อน
การค้นพบครั้งนี้เป็นการยืนยันและเปิดมุมมองใหม่ที่มีต่อการเกิดของดาวฤกษ์เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์พบว่าดาวฤกษ์สามารถเกิดขึ้นในสภาวะที่รุนแรงขนาดนี้ได้ นอกจากนี้กระบวนการดังกล่าวอาจทำให้ดาวฤกษ์เกิดการกระจายไปในบริเวณต่างๆของกาแล็กซีหรือกระจายไปนอกกาแล็กซีได้ เพราะดาวฤกษ์ที่เกิดขึ้นใกล้ๆกับแกนกลางของกาแล็กซีอาจเคลื่อนเข้าสู่ใจกลางกาแล็กซี แต่ดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างออกมาอาจจะหลุดออกนอกกาแล็กซี