วันความสุขสากล (The International Day of Happiness)

วันที่: 
20 March

“วันความสุขสากล” (The International Day of Happiness)
เริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2012 ในการประชุมสหประชาชาติที่กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่คนทั่วโลกจะร่วมเฉลิมฉลอง และตระหนักถึงความสุขซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ และยังใช้โอกาสนี้ในการเรียกร้องให้แต่ละประเทศผลักดันนโยบายเพิ่มความสุขให้กับประชาชนด้วย

วันความสุขสากลมีที่มาจากต้นแบบแนวคิดของประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก และใช้ดัชนีมวลรวมความสุข หรือ Gross National Happiness Index (GNH) แทนที่ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) โดยดัชนีมวลรวมความสุขไม่ได้ใช้ชี้วัดการพัฒนาประเทศด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ให้คุณค่ากับจิตใจที่ดีของประชาชนเป็นหลัก

ในยุคสมัยที่สังคมมีการแข่งขันสูง บางคนเกิดความผิดหวัง โทษตัวเอง กลายเป็นคนคิดลบ ไม่มีความสุข จะมองสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ทำให้เกิดความเครียด เศร้าเสียใจ จึงควรค่อยๆ ปรับพฤติกรรมให้กลายเป็น “คนคิดบวก” เพราะการคิดบวกเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องฝึกฝน ด้วยการหมั่นตั้งคำถามกับตัวเองว่า วันนี้ สัปดาห์นี้ มีสิ่งดีๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือหมั่นทบทวนว่า ปัญหาที่พบเจอให้ประโยชน์อะไรกับชีวิต ซึ่งการฝึกให้คิดบวกบ่อยๆ จะทำให้คนผู้นั้นมีมุมมองทางบวกต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ นอกจากนี้ การคิดบวกหรือการมองโลกในแง่ดี จะช่วยให้มองเห็นโอกาสที่แฝงมากับปัญหา ทำให้ความคิดของแต่ละคนเติบโตและเข้าใจชีวิตมากขึ้น จนเกิดเป็นความสุขและความสบายใจ เป็นทุกข์น้อยลง มีแรงจูงใจที่  จะต่อสู้กับชีวิตและเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น

วิธีการสร้างความสุขที่ได้จากการคิดบวก คือ
1.การมองตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น
 ความทุกข์ส่วนใหญ่มาจากการที่มองตัวเองต่างไปจากที่เป็นอยู่ เช่น วันนี้เราอยู่ที่ตรงนี้ ใจเราไปอยู่อีกที่ เราไปคิดเรื่องโน่น เรื่องนี้ เรื่องที่ไม่ได้อยู่ในตัวของเราเอง หรือบางคนอยู่ในตำแหน่งหรือที่ที่น่าจะมีความสุขก็มองออกไปไกลตัวมาก มัวไปคิดถึงเรื่องที่ไม่ได้อยู่ใกล้ตัวเอง 
2. มองสิ่งที่เป็นโอกาสสำหรับตัวเอง ทุกๆครั้ง เวลาที่พูดเรื่องความคิดบวกกับความคิดลบ หลายคนคงเคยได้ยิน ว่าน้ำในแก้วใบหนึ่ง เมื่อน้ำหกออกไปแล้ว คนที่คิดบวกจะมองสิ่งที่ยังเหลืออยู่ และสิ่งที่ยังเป็นอยู่ แต่คนที่มีความคิดลบ คนที่ไม่มีความสุข จะมองน้ำที่หกไปแล้ว เกิดความเศร้าเสียใจ แต่ถ้าจะคิดไปข้างหน้า ต้องมองสิ่งที่เหลืออยู่  
3. เรียนรู้จากสิ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีในตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องเปิดใจอีกใจหนึ่งรับบางส่วนอีกว่า ในเมื่อมองกลับไปดูบทเรียนจากชีวิตที่ผ่านๆมา อย่าให้สิ่งเหล่านั้นทำให้เป็นทุกข์ และไม่เคยที่จะเรียนรู้จากสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์เลย ในเมื่อมองกลับไปหลายครั้งเราจะพบว่า เรามีวิธีคิดคนละอย่างซึ่งมันเป็นเหมือนเหรียญคนละด้าน เวลาเราอยู่กับคิดบางอย่าง เราจะกลับมาคิดบวกไม่ได้ เหมือนฝังตัวเองไปในสิ่งที่ล้มเหลว สิ่งที่ผิดพลาด ติดอยู่กับความคิดบางอย่าง ที่ทำให้กลับมาคิดบวกไม่ได้ และเมื่อกลับมาคิดบวกไม่ได้ เราก็หาความสุขที่จะเดินต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้โอกาส มองว่าที่ผ่านมาได้บทเรียนอะไรจากการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เป็นคนที่ปล่อยตัวตามสบาย เวลาตั้งใจจะทำให้เสร็จก็ ผัดวันประกันพรุ่ง จนกระทั่งทุกอย่างยุ่งยากไปหมด และในที่สุดอาจจะสูญเสียโอกาสไป เพราะว่าไม่ได้ทำทุกอย่างให้พร้อม

หมวดหมู่: 
แหล่งที่มา: 
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/267073