Acid rain
ฝนกรด (acid rain)
ไม่ใช่น้ำกรดบริสุทธิ์ที่มีความเข้มข้นสูง แต่หมายถึงค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำฝน หรือเรียกว่า ค่าพีเอช (pH) ที่เปลี่ยนแปลงไป
ค่าพีเอชนั้น มีตั้งแต่ 0-14 โดยแทนค่าตัวเลข 0-6 เป็นกรด ยิ่งตัวเลขน้อยยิ่งมีฤทธิ์เป็นกรดเข้มข้น (เช่น น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีค่าพีเอชอยู่ในช่วง 1.5-3.5) และแทนค่าตัวเลข 8-14 เป็นด่าง ยิ่งตัวเลขมากยิ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง ส่วน 7 เป็นตัวเลขที่อยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นกรดและด่าง จึงมีค่าเป็นกลาง
อย่างในน้ำดื่มและน้ำประปา สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ใช้เกณฑ์ควบคุมค่าพีเอชตามค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คือ ต้องอยู่ระหว่าง 6.5-8.5
ค่าพีเอชที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อรสชาติของน้ำเท่านั้น หมายความว่า น้ำที่มีค่าพีเอชเป็นกรดจะออกรสเปรี้ยว ส่วนน้ำที่มีค่าพีเอชเป็นด่างจะออกรสฝาด ค่าพีเอชเหล่านี้จึงไม่อาจบ่งบอกถึงคุณภาพน้ำได้ เพราะต้องดูที่สิ่งเจือปนอื่นๆ แทน ได้แก่ สิ่งมีชีวิต เช่น เชื้อโรค จุลินทรีย์ และสิ่งไม่มีชีวิต เช่น สารเคมี แร่ธาตุ และโลหะหนัก
ขณะที่น้ำฝนตามธรรมชาติ ซึ่งมีค่าพีเอชประมาณ 5.6 จึงมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ แต่ตัวการสำคัญที่ทำให้ค่าพีเอชของน้ำฝนลดต่ำลงกว่า 5.6 จนกลายเป็นฝนกรด คือมลภาวะทางอากาศ
สาเหตุหลักของฝนกรดในปัจจุบัน เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงควันพิษจากเครื่องยนต์ และเหตุการณ์ไฟไหม้ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะไฟป่าและไฟไหม้โรงงานที่เก็บกักสารเคมี
การเผาไหม้เหล่านี้ สร้างออกไซด์ของโลหะบางชนิดปริมาณมหาศาล เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เมื่อลอยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ จะกลายเป็นกรดกำมะถันและกรดไนตริกปนเปื้อนอยู่ในไอน้ำ ก่อนตกลงมาเป็นฝนกรด ซึ่งมีค่าพีเอชอยู่ระหว่าง 4.2-4.4 พร้อมทำลายธาตุอาหารในดินและทำให้ดินเป็นกรด พืชบริเวณนั้นจะตายหรือไม่ก็แคระแกร็น ท้ายที่สุดแล้ว ความสมบูรณ์ของต้นไม้จะลดลง พื้นที่ป่าจึงเสื่อมโทรมตามไปด้วย
แหล่งที่มา : https://becommon.co/life/living-dangers-of-rainwater-ep1-acid-toxic-dust...

- 148 reads