ไขปริศนาข้อความที่ซ่อนไว้ในม้วนคัมภีร์คิวเลเนียมที่กลายเป็นถ่านมานานกว่า 2,000 ปี

“ม้วนคัมภีร์เฮอร์คิวเลเนียม” (Herculaneum scroll) กว่า 800 ม้วน ถูกลาวาจากภูเขาไฟวิสุเวียส (Vesuvius) เผาไหม้จนกลายเป็นก้อนถ่านจากการระเบิดเมื่อ 2,000 ปีก่อน พร้อมๆ กับเมืองปอมเปอีที่มีผู้คนหลายร้อยชีวิตเนื่องจากหนีธารลาวาไม่พ้น แม้ว่าซากคัมภีร์ที่ทำจากกระดาษปาปิรุสเหล่านี้ จะยังอยู่ในสภาพเป็นม้วน แต่การถอดข้อความในคัมภีร์ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากถูกเผาไหม้ทั้งหมดจนมีสภาพเปราะบางเกินกว่าจะสามารถคลี่ออกมาดูได้

ศ.เบรนท์ ซีเลส (Brent Seales) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเคนทักกี (University of Kentucky) และทีมวิจัย ได้ใช้เวลาร่วม 2 ทศวรรษตั้งแต่ปลาย ค.ศ.1800s ในความพยายามใช้ภาพถ่ายเอกซเรย์สามมิติในการถอดข้อความที่อยู่ภายในซากคัมภีร์เฮอร์คิวเลเนียม 2 ม้วนที่ยังอยู่ในสภาพดี และเศษซากคัมภีร์อีก 4 ซิ้น ที่ได้มาจาก Institut de France’s Herculaneum collection แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากหมึกที่ใช้ในคัมภีร์เป็นหมึกที่ทำจากธรรมชาติมีความหนาแน่นใกล้เคียงกับกระดาษปาปิรุสมาก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นอักษรในคัมภีร์เฮอร์คิวเลเนียมได้ชัดเจนด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์แบบทั่วไป

จนกระทั่ง ทีมวิจัยได้นำคัมภีร์เฮอร์คิวเลเนียมทั้ง 6 ชิ้นมาสแกนอีกครั้งด้วยเทคนิคภาพเอกซเรย์สามมิติที่เรียกว่า X-ray phase-contrast tomography (XPCT) ซึ่งเป็นเทคนิคที่แตกต่างจากการถ่ายภาพเอกเรย์สามมิติแบบที่ผ่านมา โดยใช้เอกซเรย์พลังงานสูงของห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนแห่งสหราชอาณาจักร (Diamond Light Source) เดิมทีเทคนิคการถ่ายภาพเอกซเรย์สามมิตินั้น เป็นการถ่ายภาพที่อาศัยความแตกต่างของการดูดกลืนรังสี จึงไม่สามารถแยกความแตกต่างของวัสดุที่มีความหนาแน่นใกล้เคียงกันได้ เนื่องจากจะให้ค่าการดูดกลืนรังสีเท่ากัน เช่น หมึกและกระดาษปาปิรุสที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติเหมือนกัน แต่สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพแบบ XPCT นั้น ภาพถ่ายจะเกิดจากเฟสของเอกซเรย์ที่เปลี่ยนไปเมื่อผ่านวัสดุที่มีความหนาแน่นแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อเอกซเรย์ผ่านส่วนที่เป็นหมึกซึ่งมีดัชนีหักเหที่ต่างจากกระดาษจะทำให้เฟสเปลี่ยนไป

 

ภาพถ่ายด้วยเทคนิค XPCT นี้จึงช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของอักษรบนม้วนคัมภีร์เฮอร์คิวเลเนียมที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเทคนิคการถ่ายภาพแบบดั้งเดิมไม่สามารถมองเห็นได้ การค้นพบอักษรเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทีมวิจัยนำไปใช้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Virtual unwrapping software) สู่การแปลจากอักษรเป็นข้อความ คล้ายกับการคลี่ม้วนคัมภีร์เสมือนจริง

เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ศ.เบรนท์ ซีเลส ยังร่วมจัดการแข่งขัน Vesuvius Challenge ซึ่งเป็นการแข่งขันถอดข้อความในคัมภีร์เฮอร์คิวเลเนียม โดยคณะกรรมการได้แจกภาพถ่ายเอกซเรย์ XPCT ของม้วนคัมภีร์แก่ผู้เข้าแข่งขันให้นำไปถอดความภายในวันขึ้นปีใหม่ของปี 2567

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการได้ประกาศรายชื่อทีมผู้ชนะที่ประกอบไปด้วย ยูเซฟ นาเดอร์ (Youssef Nader) นักศึกษาด้านหุ่นยนต์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน (Freie University) ลุค ฟาร์ริเตอร์ (Luke Farritor) นักศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเนบราสกา (University of Nebraska) เยอรมนี และ จูเลียน ชิลลิเจอร์ (Julian Schilliger) นักศึกษาด้านหุ่นยนต์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก (ETH Zürich) ซึ่งสามารถถอดอักขระออกมาได้มากกว่า 2,000 อักษร จากบทความของฟิโลเดมัส (Philodemus) เกี่ยวกับปรัชญาของความสุข โดยข้อความที่ถอดออกมาได้นี้คิดเป็น 5% ของข้อความทั้งหมด และปี 2567 นี้ คณะกรรมการตั้งเป้าหมายในการถอดความจากคัมภีร์ให้ได้ถึง 90% ซึ่งองค์ความรู้ที่เกิดจากการแข่งขันนี้จะปูทางไปสู่การถอดความในคัมภีร์ทั้งหมด 800 ม้วนที่เหลืออยู่

วันที่: 
Tue 25 June 2024
แหล่งที่มา: 
https://www.slri.or.th/th/ข่าววิทยาศาสตร์ทั่วไป/แสงซินโครตรอนไขปริศนาข้อความที่ซ่อนไว้ใน-“ม้วนคัมภีร์คิวเลเนียม”-ที่กลายเป็นถ่านมานานกว่า-2,000-ปี.html
Hits 290 ครั้ง