ปลาหมอสีคางดํา เอเลี่ยนผู้รุกรานแหล่งน้ำไทย
ปลาหมอคางดํา หรือ Blackchin tilapia จัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae (ซิคลิเด) เช่นเดียวกับปลาหมอเทศ และปลาหมอสี ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่น้ำกร่อยปากแม่น้ำ สามารถทนทานความเค็มได้สูง พวกมันจึงพบแพร่กระจายตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป
ผ่านมา พบการนําเข้าพันธุ์ปลาหมอคางดําในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย และพบมีรายงานการเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และฟิลิปปินส์
ในระดับโลก “สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างถิ่น” คือปัญหาสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม จากรายงาน “Report on Invasive Alien Species” (พ.ศ. 2566) ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ในหลายพื้นที่ทั่วโลกเกิดความโกลาหลด้านสิ่งแวดล้อมจากการรุกรานของพืชและสัตว์ต่างถิ่น
จากการศึกษาประมวลผลกระทบทั่วโลกของพืชและสัตว์ต่างถิ่นประเภทรุกราน จำนวน 3,500 ชนิด ในระยะเวลา 4 ปี ประเมินว่าเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจ 15.6 ล้านล้านบาทต่อปี และการรุกรานนี้ยังเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์พื้นถิ่นถึง 60% และความรุนแรงจะยกระดับเพิ่มขึ้น 4 เท่าในทุก ๆ รอบ 10 ปี
เส้นทางของปลาหมอคางดำในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุ เมื่อปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข
ต่อมาปี 2553 มีการนำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว มาเพาะเลี้ยงในศูนย์ทดลอง ในพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
และในวันนี้ ปลาหมอคางดำ ได้กลายเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ หรือ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น สร้างปัญหาในกว่า 13 จังหวัดของไทย
รายงานการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำพบครั้งแรก ในปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง และ ต.คลองโคลน จ.สุมทรสงคราม ได้พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
จากนั้นพบแพร่ระบาดไปยังแม่น้ำประแสร์ จ.ระยอง และในเขตภาคใต้คือ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำพื้นถิ่นและระบบนิเวศแหล่งน้ำ
ล่าสุด พบการระบาดของปลาหมอคางดำไกลไปถึงพื้นที่ จ.สงขลา บริเวณคลองแดน อ.ระโนด ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า เริ่มเจอครั้งแรกเมื่อราว ๆ 2 ปีก่อน แต่เรียกกันว่าปลานิลแก้มดำ ในช่วงปีที่พบมาก ๆ แต่ละวันจะจับได้ คนละ 20-30 กิโลกรัม
ปลานักกินที่นำมาซึ่งหายนะ
ลาหมอคางดำเป็นนักกิน ที่กินทั้งพืช สัตว์ และแพงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิต ที่สำคัญยังมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า และยังมีระบบย่อยอาหารที่ดี ทำให้มีความต้องการอาหารตลอดเวลา บวกกับนิสัยที่ค่อนข้างดุร้าย การมีอยู่ของปลาหมอคางดำจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมลำน้ำ
ลักษณะของปลาหมอคางดำ คือ ทนต่อความเค็มได้สูง จึงพบได้ทั้งในน้ำจืด บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน และในทะเล
ขนาดตัวโตเต็มวัย ลําตัวยาวถึง 8 นิ้ว เพศผู้จะมีสีดําบริเวณหัวและบริเวณแผ่นปิดเหงือก มากกว่าเพศเมีย สามารถผสมพันธุ์ทุก ๆ 22 วัน วางไข่ได้ทั้งปี
แม่ปลา 1 ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 150 – 300 ฟอง การฟักไข่และดูแลตัวอ่อนจะอยู่ในปากปลาเพศผู โดยไข่จะใช้เวลาฟักประมาณ 4 – 6 วัน และพ่อปลาจะดูแลลูกปลา โดยการอมไว้ในปากนาน ประมาณ 2-3 สัปดาห์
ปลาหมอคางดำ กลายเป็นภัยคุกคามสัตว์น้ำพื้นถิ่น ทำให้ความหลากหลายของสัตว์น้ำวัยอ่อนลดลง อีกทั้งยังขาดขาดผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งนั่นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในภาพรวม
ปัจจุบัน ในหลายพื้นที่แม้จะมีปลาหมอคางดำจะมีจำนวนมากในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่คนไม่นิยมนำไปรับประทาน เพราะเนื้อบาง ก้างเยอะและกินไม่อร่อย จึงมักขายไม่ได้ราคา