การไหลเวียนของอากาศและการแพร่กระจายของลมในโลก
ตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ สาเหตุพื้นฐานของการเกิดลมคือการได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์อย่างไม่สม่ำเสมอบนพื้นผิวโลก ในบริเวณเขตร้อน โลกได้รับพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าที่แผ่กลับออกสู่อวกาศ ในขณะที่บริเวณขั้วโลกกลับกัน คือได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์น้อยกว่าที่สูญเสียไป โลกจึงพยายามปรับสมดุลของความแตกต่างนี้โดยทำหน้าที่เสมือนระบบถ่ายเทความร้อนขนาดใหญ่ ด้วยการพัดพาอากาศอุ่นไปยังบริเวณขั้วโลก และนำอากาศเย็นกลับไปยังบริเวณเส้นศูนย์สูตร การไหลเวียนทั่วไปของอากาศนี้มีความซับซ้อนอย่างมาก โดยเฉพาะในบริเวณละติจูดกลางที่มักมีความเบี่ยงเบนของรูปแบบการหมุนเวียน
ใกล้เส้นศูนย์สูตร อากาศอุ่นที่ลอยตัวสูงขึ้นสัมพันธ์กับบริเวณความกดอากาศต่ำที่เรียกว่า "บริเวณความกดอากาศต่ำศูนย์สูตร" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกชุก เมื่อกระแสอากาศในระดับบนเคลื่อนตัวไปถึงบริเวณละติจูดประมาณ 20 ถึง 30 องศาทั้งทางเหนือและใต้ อากาศจะจมตัวลงสู่พื้นผิวโลกอีกครั้ง การเคลื่อนตัวลงนี้ก่อให้เกิดสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งในเขตที่เรียกว่า "บริเวณความกดอากาศสูงกึ่งร้อน" (subtropical high) ซึ่งล้อมรอบโลกใกล้ละติจูด 30 องศาทั้งซีกโลกเหนือและใต้ ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย อาระเบีย และแอฟริกา เกิดขึ้นเพราะสภาพอากาศแห้งและมั่นคงจากอิทธิพลของบริเวณความกดอากาศสูงกึ่งร้อนเหล่านี้
ที่บริเวณผิวพื้นของเขตความกดอากาศสูงกึ่งร้อน (subtropical high) กระแสอากาศเคลื่อนตัวออกจากศูนย์กลางของบริเวณนี้ อากาส่วนหนึ่งไหลย้อนกลับไปยังเส้นศูนย์สูตร และถูกเบี่ยงเบนทิศทางโดยอิทธิพลของแรงโคริโอลิส (Coriolis effect) จนก่อให้เกิดลมค้า (trade winds) จากตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดอย่างสม่ำเสมอ ส่วนอากาศที่เหลือจะเคลื่อนที่ไปทางขั้วโลก และก็ถูกเบี่ยงเบนเช่นกัน ก่อให้เกิดลมประจำตะวันตก (westerlies) ที่พัดจากตะวันตกไปตะวันออกในเขตละติจูดกลาง
การหมุนเวียนของอากาศในเขตละติจูดกลาง (ระหว่าง 30 ถึง 60 องศา) มีความซับซ้อน และไม่เป็นไปตามระบบการพาความร้อน (convection) อย่างที่เกิดในเขตร้อน เนื่องจากในช่วงละติจูดนี้ กระแสลมจากตะวันตกไปตะวันออกโดยทั่วไปจะถูกขัดจังหวะด้วยการเคลื่อนที่ของพายุไซโคลน (cyclone) และแอนตี้ไซโคลน (anticyclone) ในซีกโลกเหนือ เซลล์อากาศเหล่านี้จะเคลื่อนที่จากตะวันตกไปตะวันออกรอบโลก และสร้างการไหลเวียนของอากาศแบบแอนตี้ไซโคลน (หมุนตามเข็มนาฬิกา) หรือแบบไซโคลน (หมุนทวนเข็มนาฬิกา) ตามแต่ละบริเวณที่มีอิทธิพล
เมื่อกระแสลมประจำตะวันตก (westerlies) เคลื่อนตัวไปยังบริเวณขั้วโลก พวกมันจะพบกับลมประจำตะวันออกจากขั้วโลก (polar easterlies) ที่เย็นกว่าในบริเวณที่เรียกว่า "เขตความกดอากาศต่ำกึ่งขั้วโลก" (subpolar low) การปะทะกันระหว่างลมร้อนและลมเย็นนี้ก่อให้เกิดเขตพายุที่เรียกว่า "แนวปะทะขั้วโลก" (polar front) ซึ่งเป็นแนวที่มักเกิดสภาพอากาศแปรปรวนและพายุได้บ่อย
บริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิดของลมประจำตะวันออกจากขั้วโลก (polar easterlies) คือ "เขตความกดอากาศสูงขั้วโลก" (polar high) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อากาศเย็นจากขั้วโลกกำลังจมตัวลงและแผ่กระจายออกไปยังเส้นศูนย์สูตร
Content Provided by :
Vancouver School Board
Powered by :
NSTDA Online Learning Project
เผยแพร่ : ณาดาร์ หมื่นชล
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
Social Media
Facebook : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
Tiktok : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society