ดอกไม้ไฟและวิวัฒนาการ

วันที่เผยแพร่: 
Thu 30 January 2025
 FYI Today!   ดอกไม้ไฟที่ชอบใช้กันเมื่อถึงเวลาพลบค่ำยันดึกสงัด เพราะอะไรกันนะ  

ในช่วงศตวรรษที่ 14-15 หรือที่เรียกว่ายุคเรอแนสซองซ์ หรือยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในยุโรป ชาวอิตาลีเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาศิลปะการประดิษฐ์ดอกไม้ไฟขึ้น

ดอกไม้ไฟรูปแบบใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในยุคนี้โดยมีการดัดแปลงเพิ่มโลหะกับถ่านไปในส่วนผสมที่ใช้ทำจรวดซึ่งเมื่อปล่อยขึ้นฟ้าก็จะเปล่งประกายแสงสีเงินสีทองระยิบระยับ

คนอิตาลียังพัฒนากระบอกบรรจุส่วนผสมวัตถุระเบิดที่สามารถจุดให้ระเบิดพุ่งขึ้นไปในอากาศได้ แต่ถึงอย่างไร ดอกไม้ไฟที่ตระการตาที่สุดยังคงเป็นดอกไม้ไฟที่จุดในระดับดิน

ช่างทำพลุดอกไม้ไฟรู้ว่าการบรรจุดินปืนไว้ในกระบอกปลายเปิดจะทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างช้า ๆ และเมื่อใดที่มีการจุดก็จะเกิดประกายไฟพะเนียง ความเข้มข้นของประกายไฟที่พุ่งขึ้นและตกลงมาดูคล้ายกับสายน้ำที่พวยพุ่งจากแอ่งน้ำพุ ดังนั้น หากฐานของดอกไม้ไฟทำจากกรอบไม้รูปทรงคล้ายวงล้อ มันก็จะหมุนวนสาดส่องประกายไฟไปรอบ ๆ ด้วยความรู้นี้ ช่างปั้นอาจจะแกะสลักรายละเอียดต่าง ๆ เช่นรูปยักษ์ ปราสาทราชวัง นำไปประดับเข้ากับพลุน้ำตก วงล้อและคบเพลิง เมื่อใดที่จุดไฟก็จะสาดส่องแสงสวยงามระยับ

การแสดงดอกไม้ไฟในเมืองบริสตอลของอังกฤษ

ตอนนั้นการแสดงดอกไม้ไฟเริ่มแพร่หลายไปทั่วยุโรป การมีพลังอำนาจเหนือไฟเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและกษัตริย์ในยุคนั้นก็อาศัยการแสดงดอกไม้ไฟในการประกอบพิธีการทางศาสนา งานอภิเษกสมรสและพิธีราชาภิเษกเป็นช่องทางแห่งการอวดความมั่งมีและพลังอำนาจ

อังกฤษนำการแสดงดอกไม้ไฟสู่สาธารณชนมากขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

ในศตวรรษที่ 15-17 มังกรเป็นดอกไม้ไฟที่เลื่องชื่อที่สุด โครงมังกรทำจากไม้และปิดทับด้วยกระดาษอัด ข้างในบรรจุพลุน้ำพุ ปะทัดและพลุจรวด มังกรบางตัวยังพ่นไฟได้ด้วย ขณะที่บางครั้งช่างดอกไม้ไฟก็จัดแสดงมังกรสองตัวก็เปิดศึกกันก็มี

ในราวปี ค.ศ. 1730 การแสดงดอกไม้ไฟในอังกฤษเริ่มแพร่หลายสู่สาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อความบันเทิงในราชสำนักหรือหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น คนทั่วยุโรปพากันมาดูการแสดงดอกไม้ไฟมหรสพในอังกฤษ ตอนนั้นช่างประดิษฐ์ดอกไม้ไฟพบวิธีทำสายชนวนเพื่อจุดดอกไม้ไฟหลาย ๆ ชุดได้พร้อม ๆ กัน แถมยังประดิษฐ์และจุดดอกไม้ไฟเป็นรูปทรงต่างเช่นบุคคลสำคัญในราชสำนักได้ด้วย

เข้าอเมริกา

การจุดพลุและดอกไม้ไฟเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวันชาติอเมริกามาตั้งแต่เริ่มแรก

เข้าอเมริกา

ความรู้เรื่องดอกไม้ไฟแพร่กระจายเข้าไปในสหรัฐราวศตวรรษที่ 17 ตอนนั้นคนที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่เอาดอกไม้ไฟไปจุดทั้งเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษ ทำให้คนอินเดียนแดงทั้งประทับใจและหวาดกลัวไปพร้อม ๆ กัน

การเฉลิมฉลองวันชาติอเมริกัน 4 กรกฎาคม ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1777 เพียงปีเดียวหลังการประกาศเอกราช ตอนนั้นสหรัฐอเมริกายังตกอยู่ในม่านหมอกของยุคปฏิวัติสงครามที่มีแต่ความคลุมเครือไม่แน่นอน แต่การแสดงดอกไม้ไฟตระการตาก็จุดประกายความหวังและสร้างพลังความรักชาติในหัวใจพลเมืองหนุ่มสาวอเมริกัน

นับจากนั้นไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ สหรัฐก็พัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนและประทัดจีนก็กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปอเมริกา

ส่วนผสม

ช่วงเกือบสองพันปีแรก การประดิษฐ์ดอกไม้ไฟยังสร้างสีสันได้ไม่มาก มีแค่แสงสีส้มซึ่งเกิดจากประกายดินปืนและสีขาวที่เกิดจากผงโลหะ

แต่เมื่อประมาณร้อยหกสิบถึงร้อยเจ็ดสิบปีก่อน โลกมีพัฒนาการด้านวิทยาการทางเคมี ช่วยให้ช่างประดิษฐ์ดอกไม้ไฟชาวอิตาลีเป็นผู้ค้นพบวิธีการทำพลุให้เกิดแสงสีต่าง ๆ โดยใช้ธาตุโลหะที่ประกอบด้วย strontium ทำให้เกิดสีแดง barium ทำให้เกิดสีเขียว copper ทำให้เกิดสีฟ้า และ sodium ทำให้เกิดสีเหลือง กับผงคลอรีนผสมกับส่วนผสมที่ใช้ทำดอกไม้ไฟ

นอกจากนี้ยังมีการใช้สารโปแตสเซียมคลอเร ที่เผาไหม้เร็วและร้อนแรงกว่าโปรแตสเซียมไนเตรท หรือดินประสิว จึงทำให้เกิดสีสันเจิดจ้ากว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ยังมีเทคนิควิธีอีกสารพัดที่ใช้ประกอบทำให้การแสดงดอกไม้ไฟในยุคปัจจุบันตระการตามากกว่าในอดีต

ดอกไม้ไฟในเมืองไทย

สำหรับเมืองไทย ย้อนไปในยุคสุโขทัยก็มีการจุดดอกไม้เพลิงโบราณกันแล้ว นายสิทธา สลักคำ อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 5 ผู้เขียนหนังสือดอกไม้เพลิงโบราณ เล่าให้ฟังว่าหลักฐานที่เห็นได้ชัดคือบันทึกในหลักศิลาจารึก

"หลักศิลาจารึกบันทึกไว้ว่าเมืองสุโขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวง เพียย่อมคนเบียดกันเข้าดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยมีดังจั๊กแตก เมื่อการกล่าวเช่นนี้พอจะขยายความได้ว่าการเล่นไฟ พูดถึงการเล่นคือความสนุกสนานเพลิดเพลิน ได้เข้าชม แสงสีดอกไม้เพลิงเบียดเสียดเยียดยัดเข้ามาในพระราชฐาน ทั่วสารทิศก็เข้ามาชม นี่คือการเล่นไฟ" นายสิทธากล่าว

นายสิทธา บอกด้วยว่ามีข้อสันนิษฐานจากสิ่งแวดล้อมบางอย่าง คือที่สุโขทัย มีภูเขาสูงชื่อ เขาหลวง อยู่ห่างจากเมืองเก่าไปประมาณ 6 กิโลเมตร บนยอดเขามีลานกว้างที่เรียกว่าพญาพุ่งเรือ ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ตรงกับชื่อไฟโบราณของไทยชนิดหนึ่ง จึงเป็นแง่คิดได้ว่าในยุคสุโขทัยน่าจะมีการเล่นไฟกันแล้ว พอมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ นายสิทธาบอกว่าคำว่าเล่นไฟ ไม่มีแล้ว แต่กลับมีคำว่าจุดดอกไม้เพลิงแทนและมีหลักฐานการเรียกชื่อตัวไฟต่าง ๆ มากมายหลายประเภทซึ่งทำให้ทราบว่าการจุดดอกไม้เพลิงนั้นได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับประเพณีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์

"อันนี้มาเจอหนังสือบุณโณวาทคำฉันท์เขียนไว้ชัดเลยครับ เกี่ยวกับการจุดดอกไม้ไฟ ข้อความบอกว่าจุดเพียยมาศแจ่มดวงผกา ถวายพุทธบาทา ตระบัดระทาพุ่มเพลิง โป้งปีปปีปเสียงศัพท์เถกิง ดุจพยัฆค์ร้องเริง แลเสียงมฤคกวางฟาน ตรวดตรวยพวยพุ่งคัดคณานต์ นกบินบินบาน สกุณร่อนรักรัง อ้ายตื้ออ้ายเต้ออะไรมีหมดนะครับ ในบุณโณวาทคำฉันท์ หนังสือเก่าแก่รองจากพระไตรปิฎก"

บทพรรณาในบุณโรวาทคำฉันท์ตอนนี้ อธิบายถึงการจัดมหรสพสมโภชพระพุทธบาทตามราชประเพณีในสมัยนั้น ก็โปรดให้จุดดอกไม้เพลิงต่าง ๆ ในพิธีสมโภชด้วย

หลักศิลาจารึกบันทึกไว้ว่าเมืองสุโขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวง เพียย่อมคนเบียดกันเข้าดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยมีดังจั๊กแตก นายสิทธา สลักคำ ผู้เขียนหนังสือดอกไม้เพลิงโบราณ

ส่วนผสมของดอกไม้เพลิงโบราณของไทยไม่ต่างจากของชาติอื่นเพราะมีส่วนผสมที่เป็นยอดหัวใจหลักคือถ่านไม้ ดินประสิวและกำมะถัน ที่นำผสมกันบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้เป็นกระบอกดินเชื้อเพลิง ซึ่งก็จะออกแบบและมีวัสดุอื่น ๆ ประกอบแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของตัวไฟ

สูตรการผสมดินดำในยุคนั้นถือเป็นความลับที่พระอาจารย์และอาจารย์ผู้ประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงจะไม่แพร่งพรายสูตรของตัวเองให้ใครรู้เป็นเด็ดขาด

การเล่นดอกไม้ไฟของไทยไม่ได้เน้นเฉพาะความเพลิดเพลินสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังมีแง่มุมลึกซึ้งและมีจุดมุ่งหมายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

วิธีการเล่นจึงแสดงถึงสัจธรรมของการมีตัวตนหรือมีชีวิต การเกิดและการแตกดับ โดยจัดการเล่นดอกไม้เพลิงเป็นขั้นตอนสำคัญ ๆ ไว้ตั้งแต่การริเริ่มหรือก่อตัว การเกิดสรรพสิ่ง การแตกดับ การลอยตัวสู่อากาศหรือภพวิญญาณ การบูชาผู้มีพระคุณ กงกำกงเกวียนและภูมิปัญญา นายสิทธา สลักคำ ผู้เขียนหนังสือดอกไม้เพลิงโบราณ บอกว่าชื่อไฟโบราณของไทยนั้นจะเรียกแตกต่างกันไปตามตัวตนของมัน

"อย่างที่ว่าไฟนก ไฟเป็ด ไฟปลา การเล่นจะแสดงไปตามลักษณะการตั้งชื่อเลยครับ อย่างไฟปลาช่อน โยนลงไปในน้ำ พักนึงก็จะโผล่ขึ้นลอยตัวกันแล้วก็ตีลังกากระโดดบนผิวน้ำ ไฟปลาดุกจุดแล้วก็โยนลงน้ำเหมือนกัน โยนแล้วไฟปลาดุกจะว่ายเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ไฟจระเข้จะกระโดดไกลมากครับ ไฟเป็ดเนี่ย เมื่อกระบอกไม้ไผ่บรรจุดินดำ จุดปั๊บก็โยนลงน้ำ สักพักไฟเป็ดก็จะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ กระบอกไฟก็จะหมุน พอหมุนเสร็จไฟพอโผล่น้ำปั๊บ จมหายไปก็ดังแจ๊บ โผล่มาอีกทีก็ดังแจ๊บ ๆ ๆ ๆ ๆ เหมือนเป็ดไปไซ้แหน ข้างคูข้างหนองอย่างนั้นครับ"

 

ปัจจุบัน การจะหาชมไฟโบราณของไทยนับว่าเป็นเรื่องยาก หากจะมีให้ชมก็เป็นเพียงส่วนน้อยซึ่งนายสิทธาบอกว่าความที่วิทยาการแขนงนี้ถูกมองว่าเป็นเพียงงานอดิเรก ผู้ศึกษาขาดการเอาใจใส่จนไม่มีความเข้าใจในศาสตร์อันลึกซึ้ง เมื่อนานวันเข้า ความรู้ก็เสื่อมถอยและสูญสิ้นไปตามอายุขัยของช่างดอกไม้เพลิง ขณะที่ช่างดอกไม้เพลิงเองก็ขาดทุนทรัพย์ที่จะสืบทอดวิชาความรู้ ประกอบกับการเล่นดอกไม้เพลิงอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจึงเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้วิทยาการแขนงนี้ไม่สามารถถ่ายทอดต่อไปอย่างกว้างขวาง

 

 

 

P.S. FYI – For Your Information

เผยแพร่ : ณาดาร์ หมื่นชล
(เจ้าหน้าที่พัฒนาและบริหารจัดการสารสนเทศ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
Tiktok : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society

แหล่งที่มา

BBC

Hits 653 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: