บูมเมอแรง (Boomerang)

วันที่เผยแพร่: 
Fri 30 July 2021

บูมเมอแรง (Boomerang) ของเล่นในวัยเด็กที่นิยมเล่นกันทั่วโลก หรือในประเทศไทยที่อาจจะนิยมไม่เท่าต่างประเทศ แต่ก็อาจเคยเห็นในการ์ตูนดังอยู่บ่อย ๆ ใครจะรู้ว่า เจ้าของเล่นบูมเมอแรงชิ้นนี้ มีหลักการทางฟิสิกส์ที่น่าสนใจซ่อนอยู่

ด้วยความที่ว่าบูมเมอแรงมีการเล่นและผลของการเล่นที่น่าแปลกประหลาดใจคือ พอขว้างบูมเมอแรงออกไป มันก็จะเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วมีลักษณะหมุนโค้งไประยะไกล แล้ววกกลับมายังผู้ขว้าง หลายคนตั้งคำถามว่า บูมเมอแรงกลับมาหาผู้ขว้างได้อย่างไร

ก่อนอื่นเรามารู้จักกันก่อนว่า ของเล่นอย่างบูมเมอแรงมีที่มาอย่างไร ตามแหล่งข้อมูลจากที่ต่าง ๆ ได้มีการกล่าวถึงว่า บูมเมอแรงเป็นเครื่องมือสำหรับการล่าสัตว์ของชนพื้นเมืองอะบอริจินในออสเตรเลีย บูมเมอแรง มี 2 แบบ แบบแรก สามารถวกกลับมาหาผู้ขว้างได้ และแบบที่สองคือ แบบวกกลับไม่ได้ ความแตกต่างของทั้ง 2 แบบคือ แบบวกกลับได้จะเคลื่อนที่เป็นวงกลมแล้ววกกลับมาจุดเริ่มต้น ทำจากไม้หรือพลาสติกที่มีขนาดเบา ส่วนแบบที่สองจะมีขนาดใหญ่และยาวกว่า ซึ่งสามารถทำให้เคลื่อนที่ไปได้ไกล แบบที่สองนี้จึงเป็นที่นิยมใช้กันในกลุ่มชาวอะบอริจินที่ใช้ล่าสัตว์นั่นเอง แต่ก็มีการใช้แบบที่วกกลับบ้างอยู่เหมือนกันคือ ใช้สำหรับการแข่งขันเพื่อความสนุกว่าของใครจะกลับมาหาผู้ขว้างก่อนกัน

หลักการที่ทำให้บูมเมอแรงสามารถลอยตัวอยู่ได้ ใช้หลักการเดียวกันกับการที่ทำให้เครื่องบินบินได้ โดยใช้รูปลักษณ์เป็นปัจจัยที่ทำให้ลอยและหมุนกลับได้ กล่าวคือ ขึ้นอยู่กับมุมและความหนาของบูมเมอแรง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำ ลักษณะของการแหวกอากาศโดยใช้ปีกที่มีลักษณะปีกด้านบนขวาทั้งสองข้างหนา ส่วนด้านล่างแบนราบ อากาศที่ผ่านตรงส่วนที่หนาจะเดินทางได้ไกลและเร็วกว่า ความกดอากาศจึงน้อยกว่าด้านล่างซึ่งบางกว่า ดังนั้นความกดอากาศที่สูงกว่าจึงยกบูมเมอแรงให้ลอยได้ ส่วนการหมุนกลับมาหาผู้ขว้างนั้น ต้องอาศัยเทคนิคในขณะที่ขว้างบูมเมอแรงประกอบด้วยคือ การทำให้เกิดการหมุนจากแรกที่ส่งไปและเทคนิคการบิดข้อมือของผู้ขว้าง เพื่อให้ได้จังหวะให้บูมเมอแรงหมุนติ้ว การที่บูมเมอแรงหมุนกลับมาที่เดิมได้เพราะมีแรงลมและมีการหมุน และต้องปาในแนวตั้ง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหลักการทฤษฎีทางกลศาสตร์ และปรากฏการณ์รักษาการทรงตัว (gyroscopic effect) กล่าวคือมีแรงมากระทำกับบูมเมอแรงในขณะที่มันหมุนอยู่หลายแรงด้วยกันคือ แรงโน้มถ่วงของโลก แรงกระทำบนปีก แรงจากการขว้าง แรงที่เกิดจากความแตกต่างของความเร็ว และแรงจากลม

การทำบูมเมอแรงเป็นรูปทรงต่าง ๆ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักนิยมเล่นบูมเมอแรงมักประดิษฐ์มาแข่งขันกันว่า บูมเมอแรงของใครพุ่งไปได้ไกลที่สุด และใช้เวลาเดินทางสั้นที่สุด

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-physics/item/7811-2017-12-19-02-15-33

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87-boomerang
Hits 2,026 ครั้ง