ปลาหายใจในน้ำได้อย่างไร?

วันที่เผยแพร่: 
Thu 20 January 2022

          เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปลาหายใจทางเหงือก แต่ก็ยังสงสัยว่ามันหายใจทางเหงือกได้อย่างไร ไม่สำลักน้ำหรอและเอาออกซิเจนมาจากไหนวันนี้เรามีคำตอบ ไปดูกันเลยว่าปลาหายใจได้อย่างไรเมื่ออยู่ในน้ำ
         ตรงข้างแก้มทั้งสองของปลาจะมีกระดูกแข็งอยู่ข้างละแผ่น สามารถปิดเปิดได้คล้ายบานพับ ในนั้นจะมีอวัยวะที่เราเรียกเหงือกอยู่ ในการหายใจ แรกทีเดียวปลาจะปิดเหงือก แล้วอ้าปากเพื่อให้น้ำเข้าไปต่อจากนั้นปลาจะหุบปากแล้วเปิดเหงือกเพื่อบังคับน้ำให้ผ่านเหงือกออกมา เนื่องจากที่เหงือกมีเส้นเลือดฝอยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อน้ำที่มีอากาศละลายอยู่ผ่านเหงือก เส้นเลือดฝอยจะดูดออกชิเจนเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็คายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เช่นเดียวกับการหายใจของสัตว์อื่นๆ
         แต่ก็ยังมีปลาบางจำพวกที่มีอวัยวะพิเศษใช้ช่วยในการหายใจ นอกเหนือจากผิวหนังของปลา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับถ่ายของเสีย เช่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปลาบางจำพวก เช่น ปลา ไหลน้ำจืด ใช้ลำไส้ช่วยในการหายใจได้ด้วย ในลูกปลาวัยอ่อน (larvae) ของปลาส่วนใหญ่ที่ยังมี ถุงไข่แดงอยู่ ปรากฏว่าเส้นเลือดฝอยบนถุงไข่แดง และที่ส่วนต่างๆ ของครีบสามารถดูดซับเอา ก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้เช่นกัน ในลูกปลาจำพวกที่มีอวัยวะคล้ายปอด (lung fishes) จะมี เหงือกพิเศษซึ่งพัฒนาดีในระยะแรกของการเจริญเติบโตของปลาเท่านั้น ต่อมาเมื่อลูกปลาดังกล่าว โตขึ้น เหงือกพิเศษจะค่อยๆ หดหายไป

แหล่งที่มา
https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=1&chap=5&page=t1...

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3
Hits 1,226 ครั้ง
คำสำคัญ: