ริ้นฝอยทราย พาหะโรคลิชมาเนีย
โซเชียลในตอนนี้ เผยแพร่โรคที่กำลังระบาด และกำลังแพร่กระจาย พบผู้ป่วยแล้วในทุกภาค แต่จะชุกชุมมากในภาคใต้ โรคนี้มีพาหะแพร่เชื้อเป็นแมลงชื่อ "ริ้นฝอยทราย" รูปร่างคล้ายยุง มักอาศัยอยู่ตามพื้นที่เกษตรกรรมที่มีต้นไม้เยอะอากาศร้อนชื้น รวมถึงพื้นที่ที่เป็นป่า อาการเริ่มแรกของผู้ติดเชื้อคือหลังจากโดนแมลงริ้นกัด ก็จะมีแผลผื่นคัน จนอาจลุกลามตามภาพ ยิ่งถ้าเป็นเด็ก และผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัว โรคอาจส่งผลอวัยวะภายในอย่างตับและม้ามจนถึงขั้นต้องฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้ามิดชิด และใช้ยาทา-พ่นกันแมลงเวลาที่ต้องเข้าพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่ป่า
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคลิชมาเนีย เป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัว Leishmania spp.โดยมีริ้นฝอยทราย (Sandfl y) เป็นแมลงพาหะของโรค พบในประเทศทั้งแถบเขตร้อนและใกล้เขตร้อน พบผู้ป่วยประมาณ 14 ล้านคน อุบัติการณ์ 1.5 - 2 ล้านคน/ปีผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิง ผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 700,000 คน/ปีแต่การเป็นโรคที่ไม่ต้องแจ้งทำให้ข้อมูลทางระบาดวิทยาตํ่ากว่าเป็นจริง ประมาณ 3 เท่า
ลักษณะโรค
โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis ) เป็นโรคจากการติดเชื้อปรสิตลิชมาเนีย มักเกิดจากการถูกริ้นฝอยทรายที่เป็นพาหะของเชื้อกัด ส่วนใหญ่จะแพร่ระบาดในบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น โดยเฉพาะแถบเอเชีย แอฟริกา หรืออเมริกาใต้ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะแสดงอาการป่วยแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น อาจเกิดแผลตรงผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด เกิดแผลที่เยื่อบุจมูกหรือปาก ตับและม้ามโต ผิวซีด หรือเป็นไข้เรื้อรัง เป็นต้น
สาเหตุ
โรคลิชมาเนียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัวลิชมาเนีย (Leishmania) สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ผ่านการถูกริ้นฝอยทราย (sand fly) ที่มีเชื้อกัด เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคหลายรูปแบบ ที่พบมากที่สุดคือชนิดที่มีผลต่อผิวหนัง หรือ ชนิดที่มีผลต่ออวัยวะภายใน
วิธีการติดต่อ
เกิดจากคนถูกแมลงริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อปรสิต ลิชมาเนียกัด ภายหลังถูกกัด เชื้อปรสิตนี้จะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า Macrophage ซึ่งในเม็ดเลือดขาวนี้ เชื้อฯจะแบ่งตัวรวดเร็วและมากมาย ส่งผลให้เม็ดเลือดขาวแตก หลังจากนั้นเชื้อฯก็จะแพร่กระจายสู่เม็ดเลือดขาวเซลล์อื่นๆต่อไป
ระยะฟักตัว
ระยะฟักตัวของโรคไม่แน่นอนอาจตั้งแต่ 2 - 3 วัน
ระยะติดต่อ
เชื้อลิชมาเนียใช้เวลาในการเจริญเติบโตในริ้นฝอยทราย 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม การแพร่กระจายโรคเกิดขึ้นได้เมื่อริ้นฝอยทรายกัดดูดเลือดตั้งแต่ครั้งที่ 2 และเชื้ออยู่ได้นานถึง 10 วัน
ผู้ป่วยโรคลิชมาเนียแต่ละรายจะแสดงอาการป่วยแตกต่างกันไปตามชนิดของโรค ดังนี้
โรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง
ระยะแรกผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นผื่นนูนคล้ายผดขึ้นบริเวณที่ถูกกัด จากนั้นผื่นอาจค่อย ๆ ขยายวงกว้างขึ้นและเกิดเป็นแผลตามมา โดยแผลอาจเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นแผลขอบนูนและไม่เจ็บ ซึ่งรักษาให้หายเป็นปกติได้ค่อนข้างช้า ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลารักษานานหลายเดือนหรือหลายปี และเมื่อแผลหายแล้วก็อาจทิ้งรอยแผลเป็นที่คล้ายแผลจากไฟไหม้เอาไว้
โรคลิชมาเนียที่อวัยวะภายใน
ผู้ป่วยมักเริ่มแสดงอาการผิดปกติหลังถูกปรสิตที่มีเชื้อกัดไปแล้ว 2-6 เดือน โดยอาการบ่งชี้ของโรคนี้ ได้แก่
- น้ำหนักลด
- อ่อนเพลีย
- เป็นไข้เรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
- ตับหรือม้ามโต
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
การป้องกันโรค
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรคจึงควรป้องกันตัวริ้นฝอยทรายกัดตามคำแนะนำต่อไปนี้
1. ภายนอกอาคาร
สวมเสื้อแขนยาว กางเกงยายาว ถุงเท้า และเก็บชายเสื้อไว้ในกางเกงทายากันยุงหรือยากันแมลงที่ผิวทั้งบริเวณนอกร่มผ้าและในร่มผ้า โดยใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามฉลากบนผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัดหลีกเลี่ยงการออกนอกที่พักในเวลาพลบค่ำและรุ่งเช้า
2. ภายในอาคาร
ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดในที่พักอาศัยก่อนเข้าพักอาศัยอยู่ในที่พักที่มีประตู หน้าต่าง และมุ้งลวดปิดมิดชิดกางมุ้งก่อนเข้านอนเสมอ โดยตรวจดูให้แน่ใจว่ามุ้งไม่มีรูที่ตัวริ้นสามารถลอดเข้ามาได้
การดูแลรักษา
ยารักษาโรคลิชมาเนีย เป็นยาในกลุ่มต้านเชื้อรา เช่น Pentavalent antimoniasis หรือ Amphotericin B เป็นต้น รวมไปถึงการผ่าตัด การรักษาตามอาการ เช่น ให้เลือดหากซีดมาก ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ Liposornal Amphotericin B ชนิดฉีดครั้งเดียว ในการรักษาผู้ป่วยลิชมาเนีย แม้ว่าอาการไม่พึงประสงค์ของการใช้ยาจะน้อยกว่ายาตัวอื่น ๆ แต่ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์
แหล่งที่มา
เผยแพร่ : ณาดาร์ หมื่นชล
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
Social Media
Facebook : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
Tiktok : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society