รู้จักกับไวรัสโคโรนา (Coronavirus)

วันที่เผยแพร่: 
Wed 30 September 2020

รู้จักกับไวรัสโคโรนา (Coronavirus)

ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1960 เป็นกลุ่มของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก และในมนุษย์ ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่ไม่รุนแรง เช่น โรคไข้หวัดธรรมดา ไปจนถึงอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง เช่น โรคซาร์ส (SARS) ที่พบระบาดครั้งแรกที่ประเทศจีน ซึ่งมีการระบาดไปทั่วโลกและมีอัตราการเสียชีวิตสูง โรคเมอร์ส (MERS) ที่พบระบาดครั้งแรกในประเทศซาอุดิอาระเบีย และในแถบตะวันออกกลาง รวมถึงโรคโควิด 19 (COVID-19) หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ถูกค้นพบล่าสุดในในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน และแพร่กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก

ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม (Enveloped virus) มีลักษณะกลมหรือรูปไข่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 120 ถึง 160 นาโนเมตร มีสารพันธุกรรมชนิด RNA สายเดี่ยว (Single stranded RNA virus) จัดอยู่ในอันดับ Nidovirales วงศ์ Coronavidae วงศ์ย่อย Orthocoronavirinae นอกจากนี้ จากการศึกษาซีโรไทป์ (Serotype) และจีโนมของไวรัสโคโรนายังสามารถแบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ (Genera) ได้แก่ Alphacoronavirus Betacoronavirus Gammacoronavirus และ Deltacoronavirus โดยลักษณะโครงสร้างที่สำคัญของไวรัส
โคโรนา จะมีเปลือกหุ้มด้านนอกที่มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนและไขมัน ประกอบด้วย

โปรตีนเปลือกหุ้มไวรัส (E protein : Envelope) เป็นส่วนประกอบบนเปลือกนอก (Envelope) ประกอบไปด้วยไขมันและโปรตีน ทำหน้าที่ห่อหุ้มจีโนมของไวรัส
โปรตีนหนามของไวรัส (S protein : Spike) เป็นโปรตีนที่ยื่นออกมาจากเปลือกนอกของอนุภาคไวรัส ทำหน้าที่ยึดเกาะกับตัวรับ (Receptor) บนผิวเซลล์ เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน จะมีลักษณะคล้ายมงกุฎ จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัสในกลุ่มนี้ (ภาษาลาติน corona แปลว่า crown หรือ มงกุฎ
โปรตีนเยื่อหุ้มไวรัส (M protein) เป็นส่วนประกอบบนเยื่อหุ้มของไวรัส
โปรตีนห่อหุ้มกรดนิวคลีอิก (N protein : Nucleocapsid) ทำหน้าที่ปกป้อง RNA ของไวรัสจากสิ่งแวดล้อม
โปรตีนฮีแมกกูตินิน เอสเทอเรส (HE protein : Hemagglutinin esterase) ทำหน้าที่จับกับตัวรับ (Receptor) บนผิวเซลล์ ทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้
RNA (Ribonucleic acid) เป็นสารพันธุกรรม ใช้ในการจำลองตัวเองเพื่อเพิ่มจำนวนภายในเซลล์ของมนุษย์หรือสัตว์
ส่วนใหญ่ไวรัสโคโรนาจะระบาดเฉพาะในสัตว์ เช่น ไวรัสโคโรนา bat-SL-CoVZC45 และ bat-SL-CoVZXC21 ที่ระบาดในสัตว์จำพวกค้างคาว แต่ท่ามกลางจำนวนสายพันธุ์ที่หลากหลายนั้น มีไวรัสโคโรนาที่เกิดการระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์ (Zoonotic disease) หรือไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในคน (Human coronavirus : HCoV) ทั้งหมด 7 สายพันธุ์ ได้แก่

Human Coronavirus 229E (HCoV-229E)
Human Coronavirus NL63 (HCoV-NL63)
Human Coronavirus OC43 (HCoV-OC43)
Human Coronavirus HKU1 (HCoV-HKU1)
Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus (SARS-CoV)
Middle East Respiratory Syndrome (MERS-CoV)
Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2 (SARS-CoV-2)
โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจที่ไม่รุนแรงมีจำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ HCoV-229E, HCoV-OC43, HCoV-NL63 และ HCoV-HKU1 โดยส่งผลให้มนุษย์มีอาการไข้หวัดธรรมดา ส่วนสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงในมนุษย์ มีจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ SARS-CoV ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซารส์ (SARS) MERS-CoV ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส (MERS) และ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID-19) ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ Betacoronavirus

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ HCoV-229E และ HCoV-OC43 เป็น 2 สายพันธุ์แรกที่มีรายงานการก่อโรคในคน ซึ่งทำให้เกิดอาการไม่รุนแรง ต่อมา ในปี ค.ศ. 2002 - 2003 มีการระบาดของไวรัสซาร์สทางตอนล่างของประเทศจีน โดยเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการปวดบวมรุนแรง ร่วมกับภาวะหายใจลำบาก และได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ติดเชื้อสูงมากถึง 8,000 ราย และมีอัตราการตายถึง ร้อยละ 10 หลังจากการระบาดของโรคซาร์ส ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 - 2005 มีรายงานการพบเชื้อโคโรนาในคนอุบัติขึ้นเพิ่มอีก 2 สายพันธุ์ คือ HCoV-NL63 และ HCoV-HKU1 จากนั้นในปี ค.ศ. 2012 มีการระบาดของเชื้อไวรัสโรโคนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 (MERS-CoV) บริเวณคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งก่อให้เกิดโรคปอดบวมรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40 และล่าสุดเมื่อปลายปี ค.ศ 2019 ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานของเชื้อไวรัสอุบัติใหม่โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นับเป็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ 7 ที่ก่อโรคในคน โดยแยกเชื้อได้จากผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบคล้ายโรคซาร์ส ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับตลาดค้าอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดชื่อสำหรับเรียกโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) หรือ โรคโควิด 19 นั่นเอง

ที่มาข้อมูล :
เปิดไทม์ไลน์และวิธีป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/%e0%b9%80%e0%b8%... [10 สิงหาคม 2563]
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019 Novel Coronavirus, 2019-nCoV). [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.cmu.ac.th/th/article/38cfa1bf-6766-4d4f-aeac-cf17d89d22b7 [11 สิงหาคม 2563]
Alphacoronavirus. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/alphacoronavirus [7 สิงหาคม 2563]
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019, 2019-nCoV). [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1410 [7 สิงหาคม 2563]
Coronavirus. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.who.int/thailand/health-topics/coronavirus [4 สิงหาคม 2563]
COVID-19 Hand BOOK ทำความรู้จักไวรัส CORONA. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.paolohospital.com/covid19healthyalert/public_resources/img/h... [4 สิงหาคม 2563]
องค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่า (Coronaviruses). [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.pidst.or.th/A215.html [4 สิงหาคม 2563]
เปิด7สายพันธุ์เชื้อ'โคโรนา' ไวรัสตัวร้ายแพร่สู่คน!. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.dailynews.co.th/regional/771595 [7 สิงหาคม 2563]
คำค้น : ไวรัสโคโรนา (Coronavirus), ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในคน (Human coronavirus : HCoV), โรคโควิด 19 (COVID-19)

ผู้เขียน : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B2-coronavirus
Hits 4,301 ครั้ง