เชื้อโรคอีโคไล (Escherichia Coli)

วันที่เผยแพร่: 
Mon 20 January 2025
 FYI Today!  เชื้ออีโคไลที่หลายคนสงสัยว่าหากได้รับเชื้อจะอันตรายไหม แล้วเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร เรื่องนี้มีคำตอบ 

 

Escherichia coli หรือ E. coli เป็นเชื้อแบคทีเรียประจําถิ่น (Normal flora) ที่พบได้ในลําไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่น โดยปกติจะไม่ทําอันตรายหรือก่อโรคร้ายแรง เมื่ออยู่ในลําไส้จะช่วยย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แต่หากเชื้อ E. coli ลุกล้ําเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกายก็จะทําให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น และมีเชื้อ E. coli บางสายพันธุ์ที่ทําให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ โดยการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ําดื่ม ทั้งนี้เชื้อ E. coli ที่สามารถก่อโรคอุจจาระร่วง (Diarrheagenic E. coli) จะมีกลไกการก่อโรคและสามารถสร้างสารพิษได้แตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์เช่น เชื้อ Enterotoxigenic E. coli ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สร้างสารพิษ enterotoxin ทําให้เกิดอาการท้องร่วงแบบเฉียบพลัน ถ่ายเหลวเป็นน้ํา หรือเชื้อ Enterohaemorrhagic E. coli ที่สร้างสารพิษ Shiga ทําให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นมูกเลือด ก่อให้เกิดกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกและไตวายเฉียบพลัน

การติดต่อ

โดยปกติแล้วเชื้อ E. coli จะอาศัยอยู่ในลําไส้ของคนและยังอาศัยอยู่ในสัตว์เช่น สุกร โค กระบือ เป็นต้น ดังนั้น เชื้อจะถูกขับผ่านออกมากับอุจจาระสัตว์ได้ถ้าสัตว์ถ่ายอุจจาระลงดินหรือแหล่งน้ํา ซึ่งใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกหรืออุปโภคบริโภค เชื้อที่ปนเปื้อนไปกับผลผลิตและน้ําดื่มจะเข้าสู่ร่างกายคนโดยการรับประทาน นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดต่อจากผู้ป่วยสู่คนอื่นได้โดยตรง (person to person contact)

อาการ

มีได้ตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนถึงอาการรุนแรง บางรายถ่ายเหลวเป็นน้ํา บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มีไข้ต่ําร่วมด้วย และอาจรุนแรงถึงขั้นมีอาการปวดบิด ถ่ายเป็นมูกเลือดและมีอาการแทรกซ้อน คือ เกิดกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดง แตกและไตวาย ทั้งนี้อาการรุนแรงต่างๆ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนที่ได้รับเชื้อ ปัจจัยในการก่อโรคและปริมาณของเชื้อที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย

 

การป้องกันการติดเชื้อ

ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ํา หลังสัมผัสสัตว์ก่อนรับประทานอาหาร และก่อนปรุงอาหาร ถ่ายอุจจาระลงในห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ทิ้งอุจจาระหรือสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ําและที่สําคัญ ดื่มน้ําและรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ

สำหรับโรคท้องเดินมีวิธีการป้องกันง่าย ๆ คือ การรักษาสุขอนามัยในการรับประทานอาหารทั่วไป เช่น ล้างมือก่อนปรุงหรือรับประทานอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุงสุก

 

P.S. FYI – For Your Information

เผยแพร่ : ณาดาร์ หมื่นชล
(เจ้าหน้าที่พัฒนาและบริหารจัดการสารสนเทศ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
Tiktok : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society

แหล่งที่มา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข

เจ้าของข้อมูล: 
กรมควบคุมโรค
Hits 587 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: