20 ปี ตึกลูกเต๋า กับสิ่งที่คุณไม่เคยรู้

วันที่เผยแพร่: 
Fri 8 January 2021

“ตึกลูกเต๋า” ชื่ออย่างไม่เป็นทางการของอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ดูจะเป็นชื่อที่คุ้นหูผู้คนทั่วไป มากกว่าชื่อ “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” ของ อพวช. ด้วยเหตุที่รูปทรงของอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มีลักษณะเป็นรูปทรงลูกบาศก์ 3 ลูกวางพิงกันและตั้งอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ตึกลูกเต๋า” นั่นเอง ไม่น่าเชื่อว่า “ตึกลูกเต๋า” ที่ตั้งตระหง่านท้าลมแดดฝนของเมืองไทยอย่างทรนง จะทำหน้าที่เล่าเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนและผู้คนทั่วไปมาแล้วกว่า 20 ปี ในปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์พิเศษ จึงขอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตึกลูกเต๋า ในมุมที่คิดว่าหลายคนยังไม่เคยรู้ให้ได้ทราบกัน

นามอาคารอย่างเป็นทางการ
ความเป็นมงคลสูงสุดสิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจพนักงานของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ก็คือ นามอาคารอย่างเป็นทางการที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า “อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี” โดยพระราชทานในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ถึงแม้จะถูกเรียกนามอาคารว่า “ตึกลูกเต๋า” หรือ “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” มาโดยตลอด แต่ในใจของพนักงานทุกคนต่างรับรู้ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในครั้งนี้

“อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี” คือ “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” หรือที่เรียกติดปากว่า “ตึกลูกเต๋า”

ทวิแห่งพระมหากรุณาธิคุณ
ตึกลูกเต๋า ในนามของ อพวช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง 2 ครั้ง โดยในครั้งแรก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และในปี พ.ศ. 2562 พระองค์ได้เสด็จกลับมาที่ อพวช. อีกครั้ง เพื่อทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระราม 9 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ 2 ครั้ง ที่มีคุณค่าทางจิตใจแก่พนักงานของ อพวช. ทุกคน

ศิลาฤกษ์ทรงคุณค่า
ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 เวลา 14.09 น. เป็นเวลาปฐมฤกษ์ที่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นผู้แทนพระองค์ วางศิลาฤกษ์ เพื่อก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี บริเวณเทคโนธานี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จากแผ่นศิลาฤกษ์ ซึ่งเป็นสิ่งแทนการเริ่มต้นการก่อร่างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ บัดนี้ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือตึกลูกเต๋า ได้ทำหน้าที่อย่างสมบทบาทและสง่างาม สมกับเวลาปฐมฤกษ์ที่แผ่นศิลาฤกษ์นี้ถูกทำพิธี ปัจจุบันแผ่นศิลาฤกษ์อันทรงคุณค่า ถูกจัดแสดงบริเวณด้านหน้าทางเข้าชั้น 1 ตึกลูกเต๋า เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้กับพนักงานของ อพวช. ทุกคน

ก่อนกาล ตึกลูกเต๋าเปิด
ตึกลูกเต๋า เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2543 แต่ทราบหรือไม่ว่า ในช่วงของการก่อสร้างตึกลูกเต๋า ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร ถึง 2 ที่ ได้แก่ นิทรรศการ เปิดโลกวิทยาศาสตร์ (Science Exploratorium) จัดแสดงที่ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ เป็นระยะเวลา 1 ปี ระหว่าง กันยายน พ.ศ. 2540 - สิงหาคม พ.ศ. 2541 โดยนำชิ้นงานชุด Science Circus ที่ผู้ชมสามารถทดลองและเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วยตนเองมาจัดแสดงกว่า 40 ชิ้น และในปี พ.ศ. 2542 จัดนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ ที่ อาคารลีลาศ สวนลุมพินี เป็นเวลา 1 ปีเศษ ก่อนที่อาคารตึกลูกเต๋าจะก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2543 ทำให้ชิ้นงานทางวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดถูกนำมาจัดแสดงที่ตึกลูกเต๋าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ตระหง่านอย่างเข้มแข็ง : Magic Boxes ความลับของตึกลูกเต๋า
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในบริบทที่คนทั่วไปรับรู้เป็นสิ่งแรก คือรูปทรงอาคารที่ดูทันสมัย แปลก น่าอัศจรรย์ และตื่นตาตื่นใจ เพราะหากมองอย่างเฉพาะเจาะจงไปที่แวดวงสถาปัตยกรรม การสร้างอาคารรูปทรงเรขาคณิตที่นำมุมแหลมของรูปทรงลูกบาศก์ 3 ลูกมาเป็นฐาน ช่างเป็นรูปทรงอาคารที่แหวกแนว และสร้างความฉงนให้กับผู้คนที่พบเจอว่า ตั้งอยู่ได้อย่างไร แนวคิดของการสร้างตึกลูกเต๋านี้ นายเฉลิมชัย ห่อนาค ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คนแรก เป็นหัวหน้าคณะออกแบบตึกลูกเต๋าในขณะนั้น ให้เหตุผลของการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นตึกลูกเต๋าว่า เพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม ความลับที่หลายคนยังไม่รู้ ถึงการตั้งได้ของตึกลูกเต๋าก็คือ การใช้มุมแหลมของลูกบาศก์พิงกันอย่างมีเสถียรภาพ และมีฐานรับน้ำหนักเพียง 3 จุด จุดละประมาณ 4,200 ตัน ขณะที่ความแข็งแรงของตึก คือการสร้างอาคารด้วยโครงเหล็กที่ออกแบบให้รับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สามารถรับแรงลมที่มาปะทะอาคารได้ 120 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งเพียงพอจะรับแรงพายุขนาดหนักได้ หากมองตึกลูกเต๋าทางด้านกายภาพ อาจคิดว่า มันเป็นอาคารที่ทรงตัวอยู่ได้อย่างไร แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม ทำให้ตึกลูกเต๋า แข็งแรงกว่าอาคารอื่น ๆ หลายเท่านัก

ลูซี่ : คุณป้าผู้บอกเล่าเรื่องราวที่มาของมนุษย์
นอกจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ จะมีตึกลูกเต๋าเป็นสัญลักษณ์ในภาพจำของคนทั่วไปแล้ว ยังมีโมเดลจำลอง ลูซี่ (Lucy) ซึ่งใคร ๆ ต่างเรียกเธอว่า “ป้าลูซี่” ซึ่งยืนหยัดอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารตึกลูกเต๋า มาตั้งแต่ตึกลูกเต๋าเริ่มเปิดทำการจนถึงวันนี้ โมเดลจำลองลูซี่นี้ จำลองซากฟอสซิลของ ออสตราโลพิเธคคัส อฟาร์เอนซิส (Australopithecus afarensis) ซึ่งมีชีวิตในช่วง 3.9 ล้านปีก่อน ซากลูซี่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลมากมายเกี่ยวกับบรรพบุรุษมนุษย์ อีกทั้งตำแหน่งที่ตั้งของลูซี่ในตึกลูกเต๋านี้ ยังคงเล่าเรื่องถึงวิวัฒนาการของมนุษย์อีกด้วย เพราะเหนือลูซี่ขึ้นไป คือโมเดลจำลองเครื่องร่อน จากจินตนาการของ ลีโอนาร์โด ดาร์ วินชี ศิลปินชื่อก้อง และเหนือเครื่องร่อนขึ้นไป คือ โมเดลจำลองดาวเทียม เมื่อรวมโมเดลจำลอง 3 ชิ้นเข้าไป จึงได้เรื่องราวของวิวัฒนาการของมนุษย์ (ป้าลูซี่) จนมนุษย์เริ่มฝันที่จะบินผ่านความคิดและจินตนาการ (โมเดลจำลองเครื่องร่อน) กระทั่งมนุษย์มีวิวัฒนาการที่จะพัฒนาดาวเทียมออกนอกโลก ซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าขั้นสุดของเทคโนโลยีโดยมนุษย์

20 ปีแล้ว ที่ป้าลูซี่ยังคงยืนหยัดเล่าเรื่องในตำแหน่งเดิม หากมีกล้องจับภาพแบบ Timelapse ตลอด 20 ปี เราจะพบบริบทรอบข้างป้าลูซี่ เปลี่ยนแปลงไป แต่ป้าลูซี่ ยังคงอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง

นิทรรศการภายในตึกลูกเต๋า ถูกออกแบบโดยบริษัท เซอร์ จอนแดนเจอร์ ฟิล จากประเทศอังกฤษ เพื่อให้เป้าหมายของการสื่อสารวิทยาศาสตร์สัมฤทธิ์ผล และสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ยังคงต้องพัฒนาไปพร้อมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เนื้อหานิทรรศการในตึกลูกเต๋าถูกผสานด้วยเรื่องราวทางเทคโนโลยีพื้นบ้านที่ถูกออกแบบโดยอาจารย์ดุลย์พิชัย โกมลวานิช กับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างกลมกลืน

เพราะนิยามคำว่านิทรรศการ ไม่ใช่เพียงแค่แสดงแผ่นป้ายข้อมูล เพื่อให้ผู้คนอ่านเท่านั้น แต่นิทรรศการในนิยามของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือตึกลูกเต๋า คือการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในหลากหลายวิธีการ รวมถึงการทำโมเดลจำลอง หรือชิ้นงานปฏิสัมพันธ์เพื่อให้การสื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์สัมฤทธิ์ผลที่สุด โมเดลจำลอง Future Head กลุ่มครอบครัว นกทิ้งตัวในแนวดิ่ง และคุณป้าลูซี่ คือโมเดล Prototype ซึ่งมีอายุมากกว่า 20 ปี เท่า ๆ กับอายุของตึกลูกเต๋า การสร้างโมเดล Prototype ขึ้นมาก่อนการสร้างโมเดลของจริง คือการครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งถึงวิธีการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ให้สัมฤทธิ์ผลมากที่สุด ผ่านโมเดลจำลองทั้งในด้านรูปลักษณ์ รวมถึงมิติในการจัดแสดง
ที่สำคัญการสร้างโมเดลจำลองเพื่อการจัดแสดงนิทรรศการ จะต้องช่วยการสื่อความรู้วิทยาศาสตร์ให้มีความง่าย และคนทั่วไปเข้าถึงได้ จึงมีความจำเป็นในการสร้างโมเดล Prototype ขึ้นมาก่อนสร้างโมเดลจำลอง ปัจจุบัน โมเดล Prototype ทั้ง 4 ชิ้นนี้ ถูกจัดเก็บในคลังวัสดุทางวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ในฐานะวัตถุอ้างอิงที่ทรงคุณค่า ที่มีเรื่องราวเล่าขานถึงปัจจุบัน ปัจจุบัน โมเดลจำลอง Future Head ยังจัดแสดงที่ชั้น 5 โดยถูกดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการระบบอัตโนมัติและวิทยาการหุ่นยนต์ ขณะที่โมเดลจำลองครอบครัว โมเดลจำลองนกทิ้งตัวในแนวดิ่ง และโมเดลจำลองป้าลูซี่ ยังถูกจัดแสดงในพื้นที่เดิมตั้งแต่ตึกลูกเต๋าเริ่มเปิด จนถึงปัจจุบัน

ตึกลูกเต๋า หรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ของ อพวช. อยู่คู่กับคนไทยเพื่อให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มานานกว่า 20 ปีแล้ว และถึงแม้ตอนนี้ อพวช. จะเติบโตมีพิพิธภัณฑ์ในสังกัดอีกหลายพิพิธภัณฑ์ แต่ต้องยอมรับว่า “ตึกลูกเต๋า” ยังคงเป็นภาพจำ เป็นคำพูดติดปาก และอาจถือได้ว่าเป็น สัญลักษณ์ ของการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของไทยจนถึงปัจจุบัน และ ตึกลูกเต๋า จะไม่หยุดพัฒนาวิธีการสื่อสารความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงเท่านี้ เพราะ วิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่มีการพัฒนาและเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ประชาชนคนไทยต้องรู้เท่าทันวิทยาศาสตร์เพื่อให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นประโยชน์กับตนเองให้มากที่สุด เพราะ ตึกลูกเต๋า ยังอยู่กับสังคมไทยตลอดไป

ผู้เขียน : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/20-%E0%B8%9B%E0%B8%B5-%E0%B8%95%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%8B%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89
Hits 2,426 ครั้ง