20 มิถุนายน วันผู้ลี้ภัยโลก

วันที่เผยแพร่: 
Wed 19 June 2024

 "วันผู้ลี้ภัยโลก" ตรงกับวันที่  20 มิถุนายน ของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อระลึกถึงความเข้มแข็งและความกล้าหาญของผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศบ้านเกิดจากความขัดแย้งและการประหัตประหาร
เป็นโอกาสให้ระลึกถึงความเข้มแข็งในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งของผู้ลี้ภัย แม้ต้องสูญเสียทุกอย่าง รวมถึงยังเป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์ของพวกเขาและการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้คนจากทั่วโลกด้วยความเมตตา

 ใครคือ "ผู้ลี้ภัย"
คนที่หนีออกจากบ้านและประเทศของตนเนื่องจาก "ความกลัวถูกประหัตประหารเนื่องจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ การเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมใดกลุ่มหนึ่ง หรือความคิดเห็นทางการเมือง" ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ อนุสัญญาผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ต้องเดินทางออกจากที่อยู่อาศัย เพื่อหลบหนีผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือจากฝีมือมนุษย์

 5 เหตุผล ผู้ลี้ภัย ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

 1 ผู้ลี้ภัยคือคนธรรมดา พวกเขาเคยมีหลายๆ อย่างเหมือนที่ "คนทั่วไป" มี เพียงแต่สถานการณ์ต่างๆ บีบบังคับให้พวกเขาต้องทิ้งชีวิตและต้องหนีออกจากประเทศเพื่อความอยู่รอดของชีวิตตนเองและครอบครัว

 2. ผู้ลี้ภัยคือหนึ่งในทรัพยกรมนุษย์ที่มีศักยภาพ เช่น ผู้ลี้ภัยจากประเทศซีเรีย มีทั้ง หมอ ทนายความ วิศวกร ครูและอีกหลายอาชีพที่เป็นประโยชน์ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีความมุ่งมั่นและมีความอดทนเป็นอย่างมากในการทำงาน เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

 3. ผู้ลี้ภัยไม่ได้มาแย่งงานแต่ผลักดันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานระบุว่า การที่มีผู้ลี้ภัยมากขึ้นในตลาดแรงงาน ไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อคนในประเทศนั้นๆ เพราะว่าคนในประเทศนั้นกับผู้ลี้ภัย มีความสามารถและทักษะที่เหมาะสมกับงานที่แตกต่างกัน

 4. การรับผู้ลี้ภัยไม่กระทบต่อการใช้เงินภาษีของคนในประเทศ การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไม่ได้พึ่งพาภาษีคนของในประเทศมากมาย เพราะมีองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNHCR หรือ Red Cross ที่ให้เงินสนับสนุนประเทศที่ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

 5. ผู้ลี้ภัยช่วยสร้างสังคมที่เห็น "ความเป็นมนุษย์" ของกันและกัน วิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลกในขณะนี้อาจทำให้พวกเราหันกลับมามอง "ความเป็นมนุษย์" ของเพื่อนร่วมโลกมากยิ่งขึ้น แทนที่จะนำความแตกต่างภายนอกมาแบ่งแยกและลดทอนความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

 ผู้ลี้ภัยยังแบ่งสถานะออกเป็น 4 สถานะ ได้แก่

 ผู้ขอลี้ภัย พวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยและได้หนีออกจากบ้าน แต่การอ้างสิทธิในสถานะผู้ลี้ภัย ยังไม่ได้รับการประเมินที่แน่ชัดในประเทศที่พวกเขาเดินทางเข้าไปอาศัย

 ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ คือบุคคลที่ไม่ได้ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ แต่ได้ย้ายไปยังภูมิภาคอื่นที่ไม่ใช่ภูมิภาคบ้านเกิดตนเอง

 บุคคลไร้สัญชาติ บุคคลที่ไม่มีสัญชาติเป็นที่ยอมรับ และไม่ได้เป็นสมาชิกของประเทศใด สถานการณ์การไร้สัญชาติมักเกิดจากการเลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่ม เพราะไม่มีเอกสารระบุตัวตน, ใบรับรองการเป็นพลเมือง ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ รวมถึงการดูแลสุขภาพ การศึกษา หรือการจ้างงานได้

 ผู้กลับมา คืออดีตผู้ลี้ภัยที่กลับไปยังประเทศหรือภูมิภาคต้นทางของตนเอง หลังจากถูกเนรเทศเป็นเวลานาน ผู้เดินทางกลับ ต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและความช่วยเหลือ ในการกลับคืนสู่สังคมเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถสร้างชีวิตใหม่ในสถานที่เดิมได้

 แหล่งที่มา : https://www.thaipbs.or.th/news/content/328869

Hits 817 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: