How to: วิธีทำให้เหรียญกลับมาเหมือนใหม่ shine bright อีกครั้ง

วันที่เผยแพร่: 
Fri 25 June 2021

มาทำความรู้จักกับเหรียญกันก่อน

เหรียญ เป็นวัตถุของแข็งมีลักษณะเป็นแผ่นกลม ผลิตมาจากโลหะหรือพลาสติกเป็นหลัก มีการนำเหรียญ มาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ใช้เป็นเงินตราที่มีมูลค่าสำหรับแลกเปลี่ยน เรียกว่า เหรียญกษาปณ์ ผลิตแจกจ่ายโดยรัฐบาล เหรียญถูกใช้ในรูปของเงินสดในระบบการเงินสมัยใหม่เช่นเดียวกับธนบัตรแต่ใช้ในหน่วยที่มีมูลค่าต่ำกว่า ขณะที่ธนบัตรจะถูกใช้ในหน่วยที่มีมูลค่าสูงกว่า โดยปกติ ค่าสูงสุดของเหรียญจะต่ำกว่าค่าต่ำสุดของธนบัตร มูลค่าอัตราแลกเปลี่ยนของเหรียญมาจากมูลค่าทางด้านประวัติของมันหรือมูลค่าที่แท้จริงของโลหะที่เป็นส่วนประกอบ (เช่น เหรียญทอง, เหรียญเงิน หรือเหรียญแพลทินัม) เหรียญยัง นำมาใช้เป็นของรางวัลหรือของที่ระลึก ซึ่งก็จะเรียกว่า เหรียญรางวัลกับเหรียญที่ระลึกนั่นเอง

เหรียญกษาปณ์ของไทยมีแบบไหนกันบ้าง

กรมธนารักษ์ระบุว่า ปัจจุบัน มีเหรียญที่มีมูลค่าจริงสูงกว่าราคาหน้าเหรียญอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

1. เหรียญ 25 สตางค์ เป็นเหรียญกษาปณ์สีแดงเรื่อ ใส้ในเป็นเหล็ก 99% ส่วนด้านนอกชุบด้วยทองแดง 1% เส้นผ่านศูนย์กลาง 16 มม. น้ำหนัก 1.9 กรัม มีต้นทุนการผลิตเหรียญละ 50 สตางค์

2. เหรียญ 50 สตางค์ ผลิตจากโลหะผสมแบบเดียวกัน คือ ใส้ในเป็นเหล็ก 99% ด้านนอกชุบด้วยทองแดง 1% เช่นกัน เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 มม. และ มีน้ำหนักถึง 2.4 กรัม ต้นทุนการผลิตเหรียญละ 70 สตางค์

3. เหรียญ 1 บาท ผลิตจากโลหะผสม มีสีขาว โดยใส้ในเป็นเหล็ก ส่วนด้านนอกชุบด้วยนิกเกิล มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 มม. น้ำหนัก 3 กรัม ต้นทุนการผลิตสูงถึงเหรียญละ 1.80 บาท

ส่วนเหรียญที่มีต้นทุนการผลิตไม่ขาดทุน ซึ่งกรมธนารักษ์ไม่ระบุว่าต้นทุนเหรียญละเท่าไหร่ มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

1. เหรียญ 2 บาท เป็นโลหะสีทอง ซึ่งผลิตจากทองแดงผสมด้วยนิกเกิลและอลูมิเนียม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 21.75 มม. น้ำหนัก 4 กรัม

2. เหรียญ 5 บาท เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว ผลิตจากโลหะผสมคือ ใส้ในเป็นทองแดง ส่วนด้านนอกเคลือบกด้วยนิกเกิล มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 มม. น้ำหนัก 6 กรัม

3. เหรียญ 10 บาท เป็นเหรียญสีขาวกับสีทอง โดยวงนอกเป็นโลหะผสม คือ ทองแดงกับนิกเกิล วงในผลิตจากทองแดง นิกเกิล และ อะลูมิเนียม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มม. หนัก 8.5 กรัม

ทำไมอยู่ดีๆ เหรียญถึงดำ

เคยสังเกตเงินเหรียญที่เราใช้กันอยู่ในทุกๆ วันหรือไม่ว่าสีของเหรียญแต่ละเหรียญจะมีสีที่ต่างกัน ซึ่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอายุการใช้งาน เหรียญบางเหรียญสีเปลี่ยนเพราะความสกปรก แต่บางเหรียญนั้นสีเปลี่ยนเนื่องจากเกิดปฏิกิริยาเคมี โดยเหรียญที่เราเก็บไว้นานๆ โลหะในเหรียญจะทำปฎิกิริยากับออกซิเจนและความชื้นในอากาศ จนเกิดเป็นโลหะออกไซด์ที่มองเห็นเป็นคราบสีดำๆ บนเหรียญ ทำให้เหรียญดูไม่สวยงามเหมือนใหม่ และอาจถึงขั้นไม่สามารถนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเลยก็เป็นได้

มาดูตัวช่วยที่จะทำให้เหรียญเก่ากลับมาเหมือนใหม่อีกครั้ง

น้ำมะขามเปียก เพียงนำมะขามเปียกไปแช่น้ำ ใช้มือบี้จนเนื้อมะขามละลายออกมาในน้ำ จากนั้นนำเหรียญไปแช่ในน้ำมะขามเปียก 2-3 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับความดำของเหรียญ จากนั้นก็นำไปล้างในน้ำสะอาด เพียงเท่านี้เหรียญก็จะแวววับขึ้นมาเลย

ซอสมะเขือเทศ หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าซอสมะเขือเทศสามารถทำความสะอาดเหรียญเก่าๆได้ วิธีนี้มีขั้นตอนง่ายๆคือ เทซอสมะเขือเทศลงไปบนเหรียญแล้วทิ้งไว้ซัก 10 นาทีจากนั้นก็ล้างออกด้วยน้ำสะอาด ที่ซอสมะเขือเทศทำความสะอาดเหรียญได้ก็เพราะว่ามีส่วนผสมของน้ำส้มสายชูและเกลือ ซึ่งน้ำส้มสายชูจะไปทำปฏิกริยากับโลหะออกไซด์ให้กลายเป็นเกลือของโลหะโดยมีเกลือแกงเป็นตัวเร่งให้เกิดปฏิกริยา

น้ำส้มสายชูและเกลือ เทน้ำส้มสายชูลงในภาชนะก้นตื้นๆที่ไม่ใช่โลหะ โดยจะเทน้ำส้มสายชูประมาณ 1 ส่วน 4 ของถ้วย จากนั้นใส่เกลือไปประมาณ 1 ช้อนโต๊ะแล้วคนให้เกลือละลายเข้ากับน้ำส้มสายชู นำเอาเหรียญที่เราต้องการทำความสะอาดไปแช่ โดยวางเหรียญให้ห่างกันเล็กน้อย ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที หรือตามความเหมาะสม เมื่อครบกำหนดให้นำเหรียญขึ้นมาล้างน้ำเปล่าและใช้กระดาษซับน้ำออกให้แห้ง เพียงเท่านี้ก็จะได้เหรียญที่แวววาวเหมือนใหม่แล้ว

น้ำอัดลม วิธีง่ายๆเพียงแค่นำเหรียญไปแช่ในน้ำอัดลมทิ้งไว้ 1 - 2 ชั่วโมง โดยคนเหรียญเป็นระยะๆ จากนั้นก็นำเหรียญไปล้างในน้ำสะอาด สาเหตุที่น้ำอดลมทำความสะอาดเหรียญได้ก็เพราะในน้ำอัดลมมีกรดคาร์บอนิกซึ่งมีความเป็นกรดอ่อนๆนั่นเอง

น้ำมะนาว ขั้นตอนก็คล้ายกับน้ำมะขามเปียก คือนำน้ำมะนาวมาผสมกับน้ำ จากนั้นนำเหรียญไปแช่ทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง แล้วนำมาล้างด้วยน้ำเปล่าใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าสะอาดซับน้ำออกจนแห้ง

วิธีที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นวิธีที่เราสามารถทำได้เองที่บ้านได้อย่างง่ายๆ ส่วนสาเหตุที่เหรียญกลับมาเหมือนใหม่ได้อีกครั้งเนื่องจาก สารแต่ละตัวที่ใช้มีสมบัติเป็นกรดอ่อน ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับเกลือจะสามารถกำจัดโลหะออกไซด์บนผิวของเหรียญไปได้นั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีอื่นๆ อีกเช่น การใช้ผงขัดหรือน้ำยาทำความสะอาดโลหะโดยเฉพาะ เป็นต้น หากเป็นเหรียญสะสมที่มีราคาแพงก็ไม่ควรใช้สารเคมีที่มีความรุนแรงในการทำความสะอาด เพราะอาจทำให้เหรียญนั้นเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น เหรียญสะสมราคาแพงควรเก็บในสภาพเดิมจะดีทีสุด

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-chemistry/item/7422-how-to-shine-bright

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/how-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%8D%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-shine-bright-%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87
Hits 3,890 ครั้ง