กลางวันกลางคืนเวลายาวเท่ากัน

วันที่เผยแพร่: 
Fri 23 September 2022

    วันที่ 23 กันยายน ถือได้ว่าเป็น “วันศารทวิษุวัต” หนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น – ตกของดวงอาทิตย์ ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้
    “ศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) Autumnal Equinox คำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค”
    เหตุที่ทำให้ในวันนี้มีช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี
   เนื่องจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน

เผยแพร่ : ณภัทร โพธิ์อยู่
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ(พร.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
Facebook : @stkcsociety
Youtube chanel : STKC Society Official

แหล่งที่มา
https://www.scimath.org/article-earthscience/item/10995-2019-10-25-07-55-46

   

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
Hits 2,237 ครั้ง