การใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน

วันที่เผยแพร่: 
Fri 23 April 2021

การใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน

ในชีวิตประจำวันของเรา เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ในขณะที่ในทุก ๆ วันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเองก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนั้นมีทั้งคุณประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน เพื่อให้เรามีความรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประโยชน์และปลอดภัย ก็จำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับความรู้ทางด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้

การรู้เท่าทันสื่อ

แนวทางการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัยและมีจริยธรรม

การรักษาข้อมูลส่วนตัว

การรับมือการคุกคามทางออนไลน์

ลิขสิทธิ์และความเป็นเจ้าของผลงาน

กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์

การรู้เท่าทันสื่อ

แนวคิดการรู้เท่าทันสื่อถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารที่เกิดขึ้นกับสื่อต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคของสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก(Analog) จนก้าวมาสู่ยุคสารสนเทศที่สื่อต่าง ๆ สื่อสารผ่านระบบดิจิทัล อันเป็นยุคที่สื่อต่าง ๆ ถูกหลอมรวมเข้าหากัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสื่อสารที่ทำให้ผู้คนไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้นั้นในอีกแง่หนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารเหล่านี้ได้เพิ่มอำนาจให้กับผู้ส่งสาร ซึ่งมักจะเป็นองค์กรสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่มีเงินทุนจำนวนมหาศาลที่มีผู้คนเพียงไม่กี่รายที่จะสามารถเข้าถือกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของสื่อ และขับเคลื่อนไปด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ระบบการสื่อสารจากที่อำนาจไปกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ส่งสารให้ถ่ายเทมาอยู่ในฝั่งผู้รับสารด้วยการปลูกฝังแนวคิดการรู้เท่าทันสื่อ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจนนำไปสู่การตระหนักถึงความสำคัญของการติดตั้งกลไกการรู้เท่าทันสื่อ

จึงเกิดคำถามตามมาว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากประชาชนผู้บริโภคเนื้อหาข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เสพสารนั้นโดยไม่วิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนกับเนื้อหาข้อมูล ปริมาณมหาศาลที่สื่อนำเสนอ จากสภาพ ในเมื่อทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงฐานะของผู้รับสารที่ต้องเผชิญกับรับข้อมูล ข่าวสารจำนวนมากที่สื่อนำเสนอมาด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ การรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นกลไกที่สำคัญและจำเป็น ดังนั้นเราต้องปกป้องตัวของเรา โดยต้องรู้ให้เท่าทันสื่อ เพราะถ้าเราเลือกที่จะไม่เปิดรับสารและสื่อเลย เราก็อาจจะพลาดข้อมูลที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของเราได้หรือถ้าเราเปิดรับสารและสื่อที่ไม่มีประโยชน์ต่อตัวของเราก็จะเกิดผลกระทบในทางลบมากกว่าทางบวก ผลที่ตามมาจากการไม่รู้เท่าทันสื่อ คือ การที่ผู้รับสารสูญเสียการรับรู้โลกที่เป็นจริง แต่จะรับรู้โลกผ่านสายตาสื่อแต่เพียงอย่างเดียว นั่นย่อมหมายถึงผู้รับสารกำลังยอมรับทุกอย่างที่สื่อบอก โดยปราศจากการตั้งคำถาม ต่อรอง ต่อต้าน นิยาม การเล่าเรื่องราว การสร้างภาพตัวแทนของสิ่งต่าง ๆ ผ่านสายตาสื่อ มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเพื่อใช้รับมือกับสื่อที่มีแพร่หลายในปัจจุบัน โดยความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ มี 4 องค์ประกอบ ดังนี้

ความสามารถในการเข้าถึงสื่อและสาร คือ ความสามารถในการแสวงหาแหล่งที่มา การเลือกและการจัดการ การคัดกรอง การถอดรหัสของข้อมูลข่าวสารในสื่อประเภทต่างๆ รวมถึงความสามารถในการใช้สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ เช่น สิ่งพิมพ์ วิดีโอ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต

ความสามารถในการวิเคราะห์สื่อและสาร คือ ความสามารถในการเข้าใจสื่อและเนื้อหาสาร สามารถตีความ จัดประเภท กำหนดรูปแบบของงาน โดยใช้การวิเคราะห์และอนุมานเหตุและผล ซึ่งอาศัยพื้นฐานความรู้เดิม ประสบการณ์ และการตัดสินใจเกี่ยวกับสื่อและเนื้อหาสาร รวมถึงความสามารถในการบอกจุดประสงค์ของผู้ผลิตสื่อได้

ความสามารถในการประเมินสื่อและสาร คือ ความสามารถในการตัดสินคุณค่าและความมีประโยชน์ของสารต่อผู้รับสาร โดยใช้การประเมินสื่อและสารยึดหลักคุณธรรม จริยธรรมในตนเอง และยังอาศัยพื้นฐานความรู้เดิมที่มีมาแปลความหมายของสาร รวมถึงการระบุค่านิยมและคุณค่าของสาร และชื่นชมคุณภาพของงานในเชิงสุนทรียะทางศิลปะ

ความสามารถในการสร้างสรรค์สื่อและสาร คือ ความสามารถในการเข้าใจและตระหนักรู้ถึงความสนใจของผู้รับสาร โดยสามารถสร้างสารที่เป็นรูปแบบของตนเองจากเครื่องมือและสื่อที่หลากหลาย โดยใช้การจัดลำดับขั้นของความคิด การใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสาร และใช้ทักษะการผลิตสื่อ เช่น การทบทวนแก้ไข การพิมพ์ การผลิตและตัดต่อวิดีโอ การพูด เป็นต้น

นอกจากนี้ Center for Media Literacy ยังได้แนะนำกรอบทักษะที่ชื่อว่า “Process Skills: Success for Life” อันเป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับทักษะที่เยาวชนจะต้องมีในการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ในรายงานเรื่อง Learning for the 21st Century ซึ่งพัฒนาโดยผู้นำองค์กรเอกชนและนักการศึกษา ภายใต้กรอบแนวคิด CML MediaLit KitTM ที่ผู้เรียนจะไม่เพียงแต่เพิ่มความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของสื่อในปัจจุบันเท่านั้น แต่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติทักษะดังต่อไปนี้ได้

การเข้าถึง เป็นทักษะที่ผู้เรียนสามารถที่จะเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น ตลอดจนทำความเข้าใจความหมาย กล่าวคือ ผู้เรียนสามารถที่จะจดจำ เข้าใจศัพท์ต่าง ๆ สัญลักษณ์เทคนิคในการสื่อสารรู้จักจัดแบ่งประเภทของข้อมูลตามจุดประสงค์ของงาน

การวิเคราะห์ เป็นทักษะที่ผู้เรียนสามารถที่จะพิจารณาการออกแบบรูปแบบของเนื้อหาสื่อ โครงสร้าง สามารถใช้แนวคิดในด้านศิลปะ วรรณกรรม สังคม การเมือง เศรษฐกิจในการทำความเข้าใจบริบทที่เนื้อหาข่าวสารนั้นถูกสร้างขึ้น เช่น การใช้ความรู้ ประสบการณ์ที่มีทำนายผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ตีความข่าวสารโดยใช้แนวคิดเกี่ยวกับจุดประสงค์ ผู้รับสาร มุมมอง รูปแบบ ประเภท บุคลิกลักษณะ โครงเรื่อง แก่นเรื่อง อารมณ์ ฉาก และบริบท ใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเปรียบเทียบ การขัดแย้ง การให้ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เหตุและผล การเรียงลำดับ และผลที่ตามมา

การประเมิน เป็นทักษะที่ผู้เรียนสามารถที่จะเชื่อมโยงเนื้อหาสารกับประสบการณ์ของพวกเขาและตัดสินความถูกต้อง คุณภาพ ความเกี่ยวข้องของเนื้อหาสาร เช่น สามารถชื่นชม มีความพึงพอใจในการตีความเนื้อหาสารที่มีประเภท และรูปแบบที่แตกต่างกัน ประเมินคุณภาพของเนื้อหาสารจากเนื้อหาและรูปแบบตัดสินคุณค่าของเนื้อหาสารจากจากหลักทางศีลธรรม ศาสนา และหลักการประชาธิปไตย สามารถที่จะโต้ตอบ ไม่ว่าจะโดยการเขียน การพิมพ์ ทางอิเลคทรอนิคส์ต่อเนื้อหาสาระที่มีความซับซ้อนอันหลากหลาย

สร้างสรรค์ เป็นทักษะในการเขียนแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ การใช้คำ ใช้เสียง และภาพอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจุดประสงค์อันหลากหลาย สามารถใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ ตัดต่อ และแพร่กระจายเนื้อหา เช่น การระดมความคิด การวางแผน การวางและทบทวนกระบวนการ การใช้ภาษาพูดและเขียนอย่างมีประสิทธิภาพ เชี่ยวชาญในกฎของการใช้ภาษา สร้างและเลือกภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เป้าหมายอย่างหลากหลาย ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในการสร้างเนื้อหาสาร เป็นต้น

กรอบในการเรียนรู้การรู้เท่าทันสื่อ โดยการถามผู้เรียนด้วยกรอบคำถาม 5 คำถาม ได้แก่

ใครเป็นผู้ส่งสารนี้ และจุดประสงค์ของผู้พูดคืออะไร

เทคนิคอะไรที่ถูกใช้ในการดึงดูดความสนใจ

วิถีชีวิต ค่านิยม มุมมองแบบไหนที่ถูกนำเสนอในสารนี้

ผู้รับสารที่แตกต่างกันตีความสารนี้แตกต่างกันอย่างไร

อะไรบ้างที่ถูกละเลยในสารนี้

ชุดคำถามทั้ง 5 คำถาม จะถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์สื่อในรูปแบบต่าง ๆ 4 รูปแบบ คือ โฆษณา การชักจูงใจและการโฆษณาชวนเชื่อการวิเคราะห์การ เล่าเรื่องในสื่อบันเทิงต่าง ๆ และภาพตัวแทนของเพศ เชื้อชาติ และอุดมการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในเนื้อหาสื่อ ตัวอย่างแนวทางในการวิเคราะห์ เช่น การเปรียบเทียบเนื้อหาของเรื่องเล่าในสื่อที่แตกต่างกัน การวิเคราะห์ภาพตัวแทนของชายและหญิงในสื่อโฆษณา เทคนิควิธีที่ถูกใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ การศึกษาเนื้อหาสื่อแบบสารคดีในสื่อสิ่งพิมพ์

การรู้เท่าสื่อจึงมีความสำคัญมากในฐานะทักษะและความสามารถของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ที่สามารถเลือกรับวิเคราะห์ ข้อมูล ข่าวสาร โดยเฉพาะสื่อที่ส่งผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ พิจารณาโดยตั้งคำถามกับสื่อที่เราเลือกรับ การประเมินสื่อเราสารโดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อนั้น

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-technology/item/11534-2020-05-01-03-32-41

ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา. (2560). การรู้เท่าทันการสื่อสารกับการขับเคลื่อนวาระปฏิรูปสังคมไทยในยุคดิจิทัล. สุทธิปริทัศน์, 31 (97), 21-33.

นิตยา วงศ์ใหญ่. (2560,พฤษภาคม). แนวทางการพัฒนาทักษะการรู้ดิจิทัลของดิจิทัลเนทีฟ.Veridian E-Journal Silpakorn University, 10 (2), 1630-1642.

ปณิตา วรรณพิรุณ. (2560). ความฉลาดทางงดิจิทัล. พัฒนาเทคนิคศึกษา, 29 (102), 12-20.

วิทยา ดำรงเกียรติศักดิ์. (2558). พลเมืองดิจิทัล. เชียงใหม่: คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง. (2561). คู่มือพลเมืองดิจิทัล. กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. .

โสภิดา วีรกุลเทวัญ. (2561). เท่าทันสื่อ อำนาจในมือพลเมืองดิจิทัล. กรุงเทพฯ : สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน.

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99
Hits 3,916 ครั้ง