ขยะพลาสติกชิ้นเล็กเพียงชิ้นเดียวทำให้เต่าทะเลถึงตายได้

วันที่เผยแพร่: 
Mon 17 September 2018

ขยะพลาสติกชิ้นเล็กเพียงชิ้นเดียวทำให้เต่าทะเลถึงตายได้

 

ผลวิจัยล่าสุดจากออสเตรเลียชี้ว่า ขยะพลาสติกในมหาสมุทรก่อความเสียหายร้ายแรงต่อความอยู่รอดของสัตว์ทะเลมากกว่าที่คาดกันไว้ โดยในกรณีของเต่าทะเลนั้น การกินขยะพลาสติกเล็ก ๆ เข้าไปเพียงชิ้นเดียว เพิ่มความเสี่ยงที่จะต้องตายให้สูงขึ้นถึง 22% เลยทีเดียว

ทีมนักวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) สำนักงานออสเตรเลีย ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นในวารสาร Scientific Reports หลังได้ติดตามศึกษาชีวิตของเต่าทะเลในรัฐควีนส์แลนด์มาระยะหนึ่ง โดยได้มีการผ่าซากเต่าทะเลและลูกเต่าที่ตายแล้วซึ่งถูกคลื่นซัดมาเกยหาดเกือบ 250 ตัวด้วย

ผลการวิเคราะห์พบว่า เต่าทะเลที่กลืนพลาสติกลงท้องไป 1 ชิ้น มีความเสี่ยงจะต้องตายจากภาวะทางเดินอาหารอุดตันหรืออวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นถึง 22% ส่วนเต่าที่กินพลาสติกเข้าไป 14 ชิ้น ความเสี่ยงดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้นอีกเป็น 50% และเมื่อใดที่ในท้องเต่ามีพลาสติกรวมกันเกินกว่า 200 ชิ้น เต่าตัวนั้นจะต้องเสียชีวิตลงอย่างแน่นอนโดยไม่มีทางแก้ไขหรือรักษาได้

 

ทีมผู้วิจัยคาดว่าครึ่งหนึ่งของเต่าทะเลทั่วโลกได้กลืนกินขยะพลาสติกเข้าไปบ้างแล้ว โดยลูกเต่าที่เพิ่งฟักออกจากไข่และเต่าอายุน้อยมีความเสี่ยงที่จะกินพลาสติกและตายลงสูงกว่าเต่าในวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า เนื่องจากความอ่อนประสบการณ์ในการแยกแยะสิ่งที่เป็นอาหาร

การที่ลูกเต่ามักจะลอยไปตามกระแสคลื่นที่พัดพามันออกห่างจากฝั่ง ยังทำให้มีโอกาสพบกับแพขยะในมหาสมุทรมากกว่าเต่าที่โตแล้ว ซึ่งมักจะหาหญ้าทะเลและสัตว์น้ำมีเปลือกแข็งกินอยู่ตามชายฝั่ง

เต่าทะเลสามารถมีอายุยืนได้ถึง 80 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นจะมีช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่ยาวนานหลายสิบปี การที่ลูกเต่าจำนวนมากต้องมาตายลงก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์นั้น นับว่าเสี่ยงต่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์เต่าทะเลในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง

ดร. บริตตา เดนีส ฮาร์เดสตี หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า "เต่าทะเลมีอายุยืนเกือบร้อยปี แต่ถ้าเกิดมีพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ เข้าไปอุดตันลำไส้ พวกมันจะไม่สามารถสำรอกออกได้ พลาสติกแค่ชิ้นเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้เต่าทะเลตายได้แล้ว" ดร. ฮาร์เดสตี กล่าว

เจ้าของข้อมูล: 
https://www.bbc.com/thai/international-45518623
Hits 429 ครั้ง