ความจริงของสัญลักษณ์วันวาเลนไทน์

วันที่เผยแพร่: 
Tue 16 February 2021

หลาย ๆ คนคิดว่าสัญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์คือดอกกุหลาบ แต่ความเป็นจริงนั้นดอกอัลมอนด์สีชมพูต่างหาก ที่เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวคริสต์มอบให้กันในวันวาเลนไทน์
เพื่อแสดงถึงมิตรภาพ และการแบ่งปันน้ำใจให้แก่กัน

ดอกอัลมอนด์สีชมพูถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของวันวาเลนไทน์ ซึ่งมีเรื่องเล่าที่กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 3 ในยุคสมัยจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง
(Emperor Claudius II) แห่งกรุงโรม พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีใจคอดุร้ายและทรงนิยมการทำสงครามนองเลือด ประกอบกับยุคสมัยนั้นกรุงโรมประสบ
กับภาวะสงคราม ต้องเกณฑ์ชาวเมืองไปรบเป็นจำนวนมาก จึงประกาศยกเลิกให้ชาวเมืองแต่งงานและหมั้นกัน แต่ชาวเมืองจํานวนมากต่างมีครอบครัว มีภรรยา
มีคนรัก และไม่อยากละทิ้งครอบครัว และในตอนนั้น มีนักบุญคนหนึ่งชื่อว่า “เซนต์วาเลนไทน์” หรือ “วาเลนตินัส” กลับสวนกระแสคําสั่งของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง
ได้ร่วมมือกับเซนต์มาริอัสชักชวนคู่รักมาแต่งงานกันหลายต่อหลายคู่ จนเรื่องไปถึงจักรพรรดิคลอดิอุสที่สองและโดนจับตัวไปขังในคุก ระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่นั้น
ผู้คุมขังได้ขอร้องให้วาเลนตินัสช่วยสอนหนังสือให้กับลูกสาวของเขา นามว่า จูเลีย จูเลียเป็นหญิงสาวที่หน้าตาสวยแต่อาภัพมองไม่เห็น นักบุญได้สอนประวัติศาสตร์
สอนการคิดคำนวณ และเล่าเรื่องพระเจ้าให้เธอฟัง ด้วยความฉลาดของจูเลีย จึงสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ได้อย่างถ่องแท้ และจูเลียก็รู้สึกเชื่อใจในตัววาเลนตินัส
วันหนึ่ง จูเลียเอ่ยถามวาเลนตินัสว่า “หากเราอธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านจะทรงได้ยินเราไหม” วาเลนตินัสจึงตอบไปว่า “พระองค์เจ้าได้ยินเราทุกคนแน่นอน”
จูเลียจึงกล่าวต่อว่า “ท่านทราบหรือไม่ ในทุกเช้าเย็น ข้าทูลอธิษฐานขอให้ข้ามองเห็นโลกใบนี้ และเห็นทุก ๆ อย่างที่ท่านเล่าให้ฟัง” วาเลนตินัสจึงตอบกลับไปว่า
“พระเจ้าย่อมมอบแต่สิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ทุกคน แต่ต้องมีความเชื่อมั่นในพระองค์เท่านั้นเอง” ด้วยความเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้า จูเลียจึงนั่งคุกเข่าและกุมมืออธิษฐาน
ขอพรไปพร้อม ๆ กับวาเลนตินัส และก็เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น เมื่อจูเลียค่อย ๆ ลืมตาขึ้น เธอก็สามารถมองเห็นได้ และเรื่องนี้ก็เป็นที่กล่าวถึงกันไปทั่วทั้งราชอาณาจักร
ในคืนก่อนที่วาเลนตินัสจะถูกประหารชีวิต วาเลนตินัสได้เขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงจูเลีย และลงท้ายด้วยข้อความว่า “From Your Valentine”

วาเลนตินัส ถูกประหารชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 ศพของเขาได้ถูกเก็บไว้ที่โบสถ์ พราซีเดส (Praxedes) ณ กรุงโรม จูเลียได้ปลูกต้นอามันต์หรืออัลมอลต์สีชมพู
ไว้ใกล้หลุมศพของผู้เป็นที่รักของเธอ โดยทุกวันนี้ต้นอามันต์สีชมพูได้เป็นตัวแทนแห่งรักนิรันดรและมิตรภาพอันสวยงาม วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จึงกลายมาเป็นวันวาเลนไทน์
วันที่ผู้คนจะรำลึกถึงนักบุญผู้อุทิศตนให้กับความรัก

นับแต่นั้นมาดอกอัลมอนด์สีชมพูจึงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ ซึ่งการมอบอัลมอนด์เป็นของขวัญ ถือเป็นการแสดงความรัก ความห่วงใยได้เป็นอย่างดี
เพราะนอกจากจะมีที่มา และความหมายที่ดีแล้ว อัลมอนด์ยังมีสรรพคุณรวมถึงคุณประโยชน์ที่หลากหลายอีกด้วย

อัลมอนด์ เป็นพืชชนิดหนึ่งในสกุล Prunus เมล็ดสามารถนำมารับประทานได้ เป็นพืชพื้นเมืองในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 ชนิด ชนิดแรก คือ
สวีทอัลมอนด์ (Sweet Almond) มีดอกสีขาว เมล็ดค่อนข้างยาว อัลมอนด์ชนิดนี้เราจะเห็นได้บ่อย เพราะนำมารับประทานกัน ชนิดที่สอง คือแบบ บิทเทอร์ อัลมอนด์
(Bitter Almond) ซึ่งจะมีดอกสีชมพู มีเมล็ดที่แป้นและสั้นกว่าชนิดแรก

อัลมอนด์ ทั้งสองชนิดจะให้น้ำมันที่ต่างกัน และนำไปใช้ประโยชน์กันคนละอย่าง สวีทอัลมอนด์เหมาะสำหรับนำไปรับประทาน เพราะสวีทอัลมอนด์จะให้น้ำมันพื้นฐานที่
สามารถนำไปปรุงอาหารได้ แต่บิทเทอร์ อัลมอนด์จะมีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย ชื่อว่า ไซยาไนต์ (Cyanide) และน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) จำนวนมากปนอยู่ด้วย
น้ำมันจากบิทเทอร์ อัลมอนด์ จึงนิยมนำมาทำประโยชน์ในเรื่องกลิ่นมากกว่าการเอามาบำรุงผิว แต่กระบวนการผลิตนั้นต้องมีการกำจัด สารไซยาไนด์ออกก่อนถึงนำไปเป็น
ส่วนผสมได้

ที่มา :
ประวัติวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์. [ข้อมูลออนไลน์]. สืบค้นจาก : https://hilight.kapook.com/view/19756?fbclid=IwAR1hleBtWsImnzwr6zLRO1Cd2... [23 ธันวาคม 2561]
วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) นอกเหนือจากความรักอย่างสุดซึ้ง. สืบค้นจาก : http://www.stc.ac.th/stc/index.php?view=article&catid=43:it-for-fun&id=6... [23 ธันวาคม 2561]

ผู้เรียบเรียง
นางสาวนพรัตน์ ยิ่งเมืองมาร

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B9%8C
Hits 872 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: