ชาเขียวดื่มมากเกิดผลเสียหรือไม่?

วันที่เผยแพร่: 
Thu 1 July 2021

ชาเขียว เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีการผลิตชาเขียวในรูปแบบของเครื่องดื่มสำเร็จรูปกันอย่างแพร่หลาย ทำให้สะดวกต่อการบริโภค และด้วยรสชาติความอร่อยของชาเขียว แก้กระหายทำให้รู้สึกสดชื่น รวมไปถึงเทคนิคการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชาเขียว หรือข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสรรพคุณของชาเขียวที่มีต่อร่างกาย เช่น ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ลดความอ้วน และป้องกันโรคมะเร็ง เป็นต้น เป็นแรงจูงใจทำให้กระแสการบริโภคชาเขียวเพิ่มขึ้น แต่อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม หรือบริโภคชาเขียวในปริมาณสูงเกินไปโดยไม่ทราบถึงผลกระทบต่อร่างกายผู้บริโภคจึงควรทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชาเขียวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ส่งผลเสียหรือเป็นพิษได้

Green tea หรือ ชาเขียว คือ ชาที่ได้มาจากต้นชา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis ซึ่งเป็นชาชนิดที่ไม่ผ่านขั้นตอนการหมัก โดยการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนเพื่อทำให้ใบชาแห้งอย่างรวดเร็ว วิธีการนี้คือ เมื่อเก็บใบชามาแล้วจะนำมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วในหม้อทองแดงโดยใช้ความร้อนไม่สูงเกินไปและใช้มือคลึงเบา ๆ ก่อนแห้ง หรืออบไอน้ำในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วนำไปอบแห้งเพื่อยับยั้งการทำงานเอนไซม์ (ความร้อนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำให้ไม่เกิดการสลายตัว) จึงจะได้ใบชาที่แห้งแต่ยังคงความสดอยู่ และมีสีที่ค่อนข้างเขียว จึงเรียกกันว่า "ชาเขียว" นอกจากนี้การที่ใบชาที่ได้นั้นไม่ผ่านขั้นตอนการหมัก จึงทำให้ใบชามีสารประกอบฟีนอลหลงเหลืออยู่มากกว่าในชาอู่หลงและชาดำ (สองชนิดนี้คือชาที่ผ่านการหมัก) จึงทำให้ชาเขียวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาทั้งสอง โดยชาเขียวจะมีสาร Epigallocatechin gallate (EGCG) ประมาณ 35-50% ส่วนชาอู่หลงมีประมาณ 8-20% และชาดำจะมี EGCG อยู่เพียง 10%

สารสำคัญที่เป็นประโยชน์พบได้ในชาเขียว จะประกอบไปด้วยกรดอะมิโน วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี สารในกลุ่ม xanthine alkaloids คือ คาเฟอีน และธิโอฟิลลีน ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่เรียกว่า คาเทชิน ซึ่งในการดื่มชาเขียวให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เนื่องจากสารสำคัญในใบชาเขียวกลุ่มโพลีฟีนอล ที่ชื่อว่า เคทิชิน (Catechins) จะทำหน้าที่จับกับอนุมูลอิสระและขัดขวางการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยต้านโรคภัยได้มากมาย เช่น ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ในชาเขียวมีสารแทนนิน (Tannin) ที่มีฤทธิ์ฝาดสมานและเป็นสารที่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย จึงเป็นไปได้ ถ้าดื่มชาปริมาณมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวแบบชง หรือ แบบพร้อมดื่ม ก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน

การดื่มชาเขียวแช่เย็นมีประโยชน์หรือโทษ? ในปัจจุบันมีผู้คนมากมายเกิดความสงสัยถึงประโยชน์ของชาเขียวแช่เย็น เพราะเมื่อเทน้ำชาเขียวเย็นลงไปในชามก๋วยเตี๋ยวแล้วจะพบคราบไขมันลอยจับที่ชามก๋วยเตี๋ยวทันที ทำให้ไม่แน่ใจว่าหากดื่มไปแล้วร่างกายจะได้ประโยชน์หรือโทษ ดังนั้นจึงได้มีการวิเคราะห์ว่าการเทน้ำเย็น ๆ ไม่ว่าน้ำอะไรก็ตามลงไปในชามก๋วยเตี๋ยว ก็จะเกิดเป็นไขได้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของไขมันที่เปลี่ยนอุณหภูมิกระทันหันนั่นเอง ฉะนั้นการดื่มชาเขียวร้อนหรือชาเขียวเย็นจึงไม่แตกต่างกัน

ชาเขียวดื่มในปริมาณเท่าไรจึงจะได้ประโยชน์?

การรับประทานชาเขียวให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระ จะต้องชงชาเขียวเข้มข้นแบบญี่ปุ่นและต้องดื่มชาเขียวอย่างน้อยวันละ 20 แก้ว เป็นประจำทุกวัน จึงจะสามารถป้องกันมะเร็งได้ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจทำได้ยาก และยิ่งการดื่มน้ำชาเขียวปัจจุบันเป็นชาเขียวที่เจือจาง ทั้งยังปรุงรสแต่งกลิ่นและรสด้วยน้ำตาล ซึ่งหากดื่มมาก ๆ อาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้

ส่วนการดื่มชาร้อนนั้น มีผลวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระในชาจะหายไปประมาณ 20% หากโดนความร้อนนาน ๆ และให้เคล็ดลับการชงชาเขียวให้สารต้านอนุมูลอิสระคงอยู่ ทำได้โดยบีบมะนาวลงไประหว่างชงชา จะคงประโยชน์ของชาไว้ได้มากที่สุด

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-science/item/9806-2019-02-21-07-33-02

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88
Hits 508 ครั้ง