ดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาดทำดีเอ็นเอเปลี่ยน – กระตุ้นให้อยากดื่มเพิ่มขึ้น

วันที่เผยแพร่: 
Wed 13 March 2019

งานวิจัยล่าสุดจากสหรัฐฯ พบหลักฐานบ่งชี้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินขนาดอาจทำให้ดีเอ็นเอเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากดื่มมากขึ้นไปอีกเมื่อมีความเครียด จนกลายเป็นวงจรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่จบสิ้น

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยรัตเกอร์สในสหรัฐฯ ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Alcoholism: Clinical & Experimental Research โดยทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์หน่วยพันธุกรรม หรือ ยีน ของผู้ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินขนาด และพบว่าแอลกอฮอล์สร้างความเสียหายให้แก่ยีนของคนกลุ่มนี้

โดยยีน 2 ตัวที่เสียหายได้แก่ ยีน PER2 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมนาฬิกาของร่างกาย และยีน POMC ที่ควบคุมระบบการตอบสนองต่อความเครียด

อนามัยโลกชี้ สาเหตุการตาย 1 ใน 20 กรณีทั่วโลกมาจากแอลกอฮอล์
ผลวิจัยล่าสุดชี้ "ระดับปลอดภัย" ในการดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีจริง
ดื่มแอลกอฮอล์แม้เพียงวันละนิด เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
นักวิจัยได้เปรียบเทียบยีนทั้งสองตัวของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางกับผู้ที่ดื่มมากเกินขนาด แล้วพบว่า ผู้ที่ดื่มมากเกินขนาดมีการเปลี่ยนแปลงของยีนที่เรียกว่า กระบวนการ "เมทิลเลชัน" (methylation) ทำให้ยีนปิดการทำงานลง

นักวิจัยพบว่าความเสียหายต่อยีนทั้ง 2 ตัว ทำให้คนมีแนวโน้มอยากดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นเมื่อรู้สึกเครียด จนกลายเป็นวงจรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะยิ่งดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ยีนเกิดความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น และทำให้ดื่มมากขึ้นไปอีกไม่จบสิ้น

ทีมงานหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะนำไปสู่การตรวจตัวชี้วัดทางชีวภาพ เพื่อหาว่าบุคคลมีความเสี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่เป็นอันตรายหรือไม่

ศ.ดิปัก เค. ชาร์คาร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาเรื่องต่อมไร้ท่อ ภาควิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยครั้งนี้ระบุว่า "งานวิจัยชิ้นนี้อาจอธิบายว่าเหตุใดโรคพิษสุราเรื้อรังจึงเป็นการเสพติดที่รุนแรง และสักวันจะช่วยนำไปสู่หนทางใหม่ในการรักษาโรคนี้ หรือช่วยป้องกันผู้มีความเสี่ยงไม่ให้กลายเป็นผู้ติดสุรา"

ข้อมูลจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เมื่อปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์กว่า 3 ล้านคน คิดเป็น 5% ของการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั่วโลก ผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุจากแอลกอฮอล์ในปี 2016 เป็นเพศชายถึง 2.3 ล้านคน โดยเกือบ 29% ของการตายนั้นเนื่องมาจากอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเพราะมึนเมา เช่นอุบัติเหตุทางรถยนต์และการฆ่าตัวตาย

แนวโน้มที่น่าสนใจในรายงานดังกล่าว ยังรวมถึงการที่คนหนุ่มสาววัย 20-29 ปี ต้องมาเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์มากที่สุดถึง 13.5% ซึ่งทำให้ยอดผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะน้ำเมาเพิ่มขึ้นเป็น 7.2% ทั่วโลก

องค์การอนามัยโลกชี้ว่า แอลกอฮอล์ยังคงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก โดยความเสี่ยงอันตรายที่เกิดจากการดื่มสุราในหมู่คนยากจนนั้นมีสูงกว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะร่ำรวย

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E2%80%93-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99
Hits 315 ครั้ง