ทำไมสงกรานต์ถึงมี 3 วัน

วันที่เผยแพร่: 
Tue 4 April 2023

      สงกรานต์ ถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของไทยประเพณีหนึ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คู่กับประเพณีตรุษ หรือที่เรียกกันรวมๆ ว่าประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2483 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

      คำว่าตรุษ เป็นภาษาทมิฬ ใช้ในชนเผ่าหนึ่งทางอินเดียตอนใต้ แปลว่า ตัด หรือขาด คือตัดปี หรือขาดปี หมายถึงการสิ้นปี ซึ่งจะถือหลักทางจันทรคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือเอาการเดินของดวงจันทร์เป็นหลัก) คือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ส่วนคำว่าสงกรานต์ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น หรือการเคลื่อนที่ ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุกๆ เดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นสงกรานต์ปี จะเรียกชื่อพิเศษว่า "มหาสงกรานต์" จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยวิธีนับทางสุริยคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก)

ดังนั้น การกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้ 
วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่นๆ แล้วครบ 12 เดือน
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำที่เรียบร้อยแล้ว
วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า  “วันเถลิงศก” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่ หรือวันปีใหม่ไทยที่นับตามแบบสมัยโบราณนั่นเอง ส่วนใหญ่คนไทยจะนิยมไปเที่ยวกับครอบครัว หรือฉลองปีใหม่กันที่บ้านด้วยการทำกับข้าว กินข้าวมื้อใหญ่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตา และมีเคล็ดว่าทุกคนต้องสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ หรือมีของใช้ส่วนตัวชิ้นใหม่ๆ อย่างน้อย 1 ชิ้น เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลต้อนรับปีใหม่นั่นเอง

แหล่งที่มา
https://cheechongruay.smartsme.co.th/content/10557
https://travel.trueid.net/detail/ylnbD92Vewgl

เผยแพร่ : ว่าที่ร้อยตรีณภัทร โพธิ์อยู่
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5-3-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99
Hits 1,349 ครั้ง