ทำไมแมลงวันถึงบินไว?

วันที่เผยแพร่: 
Mon 29 January 2024

          หลายคนคงมีประสบการณ์แมลงวันกวนใจ บินไปบินมาน่าตบ แต่พอเงื้อมือจะตบหรือเอาไม้ฟาดทีไร แมลงวันมักจะบินหายวับไปกับตา ทำไมมันถึงรู้ตัวไวขนาดนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แมลงวันรอดตายก็คือ “ตา”

          แมลงวันก็เหมือนกับแมลงส่วนใหญ่ คือมีขนาดตาที่ค่อนข้างโตเมื่อเทียบกับขนาดหัวของพวกมัน ตาโปน ๆ โต ๆ ของแมลงนี้ คือ ตารวม (compound eye) ที่ประกอบด้วยแผ่นรูปหกเหลี่ยมที่ปรากฏอยู่บนผิวภายนอกของตา ที่เรียกว่า facet คล้ายกระเบื้องหลาย ๆ แผ่นมาเรียงต่อกัน ภายในมีเลนส์ที่เรียกว่า ommatidia เลนส์เหล่านี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับภาพโดยเฉพาะ แมลงจึงเห็นภาพได้เกือบรอบตัวและจับการเคลื่อนไหวได้ดี เรียกว่ายิ่งมากก็ยิ่งไว

          นอกจากตารวมแล้ว แมลงยังมีตาอีกประเภทคือ ตาเดี่ยว (simple eye หรือ ocellus) ถ้าเราซูมดูหน้าแมลงใกล้ ๆ จะเห็นตุ่มนูนใส ๆ อยู่ตรงกลางระหว่างตารวม มีจำนวนตั้งแต่ 1-3 ตา ขึ้นอยู่กับชนิดของแมลง เจ้าจุดพวกนั้นก็คือตาเดี่ยว ทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับความเข้มแสง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแมลงส่วนใหญ่มีทั้งตารวมและตาเดี่ยว เช่น แมลงปอ แมลงวัน มีตาทั้งสองประเภท แต่ก็มีแมลงบางชนิดที่มีเฉพาะตารวม ไม่มีตาเดี่ยว และก็มีบางชนิดที่ไม่มีทั้งตารวมและตาเดี่ยว

          กลับมาที่เจ้าแมลงวันว่าทำไมไวเหลือเกิน นั่นเป็นเพราะตารวมของพวกมันมีจำนวนเลนส์รับภาพตั้งสามพันถึงหกพันอัน แม้จะไม่ได้มากที่สุดถ้าเทียบกับตัวท็อปอย่างแมลงปอที่มีเป็นหลักหมื่น แต่เจ้าแมลงวันมีไอเทมลับที่ซ่อนไว้คือ ความตาไว ซึ่งวัดได้จากค่า flicker-fusion frequency ที่แมลงวันมีค่าสูงถึง 250 เฮิรตซ์ มากกว่าคนถึงสี่เท่า พูดง่าย ๆ คือแมลงวันรับภาพที่มีความถี่ได้สูงกว่าเรา ดังนั้นจึงมองเห็นเราเคลื่อนเข้าหามันแบบสโลว์โมชัน คำว่าไวของเราเท่ากับช้าของแมลงวัน มันจึงบินหนีไปสบาย ๆ ทิ้งให้เราลำบากว้าวุ่นอยู่อย่างนั้น

แหล่งที่มา

https://www.nstda.or.th/sci2pub/fly-compound-eye/

เผยแพร่ : นายปฏิภาณ นามแก้ว
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

 

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A7
เจ้าของข้อมูล: 
สาระวิทย์
Hits 560 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: