ประโยชน์ของผักและผลไม้ 5 สี

วันที่เผยแพร่: 
Fri 6 January 2023

        ในปัจจุบันเรากินผักผลไม้กันน้อยลงมาก ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขับถ่าย  โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง การกินผักและผลไม้ให้หลากหลายและเพียงพอในทุกมื้อจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลาย ป้องกันความเสี่ยงโรคเหล่านี้ได้ วันนี้จึงขอเล่าถึงคุณประโยชน์ของสารพฤกษเคมีในผักผลไม้ 5 สีกัน

สีแดง มีสารไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ  ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ซ่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยเฉพาะ มะเร็งต่อมลูกหมาก ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบมากใน มะเขือเทศ พริกหวาน สตรอเบอร์รี่ แตงโม แอปเปิ้ลแดง เป็นต้น

สีส้ม/เหลือง มีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตาและการมองเห็น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดพบมากใน ฟักทอง แครอท ส้ม มะละกอ  มันเทศ เสาวรส สัปปะรด เป็นต้น

สีเขียว มีสารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ บำรุงผิวพรรณ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ผักใบเขียวยังเป็นผักที่มีใยอาหารสูง ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย พบมากใน ผักบุ้ง ผักคะน้า ตำลึง แอปเปิ้ลเขียว ฝรั่ง

สีม่วง มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งและต้านการอักเสบในร่างกาย ป้องกันการเกิดมะเร็ง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบมากใน กะหล่ำปลีสีม่วง   มะเขือม่วง มันม่วง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ องุ่น ลูกพรุน

สีขาว มีสารอัลลิซิน (Allicin) และ แซนโทน (Xanthone) ช่วยลดการอักเสบ ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต จึงช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด พบมากใน กระเทียม หัวไชเท้า ข่า เงาะ ลิ้นจี่

     จะเห็นได้ว่าสารพฤษเคมีเป็นสารสีที่มีประโยชน์ และอยู่ในพืชผักทุกชนิด ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีคุณประโยชน์ที่เฉพาะตัวของแต่ละสี เราจึงควรเลือกกินผักผลไม้ให้หลากหลายและครบ 5 สี

เผยแพร่ : ว่าที่ร้อยตรีณภัทร โพธิ์อยู่
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety

แหล่งที่มา
https://www.theptarin.com/th/article/detail/16

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89-5-%E0%B8%AA%E0%B8%B5
Hits 436 ครั้ง