ปอดจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียหาย ฟื้นฟูได้หากเชื่อมต่อกับร่างหมูมีชีวิต

วันที่เผยแพร่: 
Mon 31 August 2020

ปอดของมนุษย์ที่ได้รับบริจาคมาเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนถ่าย มีจำนวนมากที่เสียหายใช้การไม่ได้จนต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ค้นพบวิธีใหม่ ซึ่งจะช่วยซ่อมแซมปอดเหล่านี้ให้กลับมาอยู่ในสภาพดีเช่นเดิมได้แล้ว โดยอาศัยความช่วยเหลือจากหมูที่ยังมีชีวิตอยู่

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐฯ เผยถึงความสำเร็จในการทดลองฟื้นฟูปอดที่เสียหายหลังได้รับบริจาคมาจากผู้เสียชีวิต โดยพวกเขาใช้วิธีเชื่อมต่อปอดนั้นเข้ากับหลอดเลือดที่ลำคอของหมูเป็น ๆ เพื่อให้กระแสเลือดจากตัวหมูไหลเวียนเข้ามาฟื้นฟูเซลล์ปอดได้เกือบทั้งหมด โดยใช้เวลาทั้งสิ้นราว 24 ชั่วโมง

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ระบุว่าวิธีนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนปอดที่สามารถนำไปผ่าตัดปลูกถ่ายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า แก้ปัญหาความขาดแคลนซึ่งมาจากการที่ปอดเป็นอวัยวะบอบบางเสียหายง่าย และเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วหลังนำออกจากร่างกายได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

ที่ผ่านมาแม้จะมีการใช้อุปกรณ์ EVLP ปั๊มอากาศและของเหลวที่มีออกซิเจนสูงเข้าไปช่วยฟื้นฟูปอดที่เสียหาย แต่วิธีนี้ก็มักจะไม่ได้ผล ทำให้ทีมนักวิจัยคิดจะใช้การทำงานของร่างกายคนหรือสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่แทน เพื่อให้สารอาหารที่จำเป็นและถ่ายเอาสารที่เป็นอันตรายออกจากปอดได้ดีขึ้น

มีการทดลองฟื้นฟูปอดจากผู้บริจาคอวัยวะ 6 ราย ซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าปอดมีความเสียหายจนไม่สามารถใช้ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายได้ โดยนอกจากจะเชื่อมต่อปอดดังกล่าวเข้ากับระบบไหลเวียนโลหิตของหมูเป็น ๆ ที่ถูกวางยาสลบอยู่แล้ว ยังมีการใช้เครื่องช่วยหายใจปั๊มอากาศเข้าสู่ปอด และให้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้ร่างกายของผู้รับบริจาคปอดต่อต้านเซลล์บางส่วนจากร่างกายหมูที่อาจเข้าไปปนเปื้อนอยู่ด้วย

ผลปรากฏว่าเนื้อปอดส่วนที่ขาวซีดเหมือนกับได้ตายไปแล้ว กลับมาเป็นสีชมพูสดภายในเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งแสดงถึงการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติเกือบทั้งหมด ทั้งยังพบว่าเนื้อเยื่อและโครงสร้างของปอดกลับมามีคุณภาพในระดับดีพอที่จะนำไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายได้

อย่างไรก็ตาม การใช้หมูที่ยังมีชีวิตอยู่ฟื้นฟูอวัยวะของมนุษย์อาจเป็นปัญหาทางจริยธรรมได้ แต่ทีมผู้วิจัยบอกว่าการทดลองก่อนหน้านี้ซึ่งเชื่อมต่อร่างของหมูเข้ากับปอดจากหมูตัวอื่น ไม่ได้ทำให้เกิดความทรมานกับหมูทดลองที่ตื่นอยู่ เพราะมันยังเดินไปมา เล่นของเล่น และกินอาหารได้ในขณะนั้น

ในอนาคตทีมผู้วิจัยมีแผนจะพัฒนาเทคนิควิธีนี้ต่อไป เพื่อให้ถึงขั้นที่ผู้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายใช้ระบบไหลเวียนโลหิตของตนเองฟื้นฟูปอดที่ได้รับบริจาคมาได้ ซึ่งจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาทางจริยธรรมและการที่ภูมิคุ้มกันของคนไข้ต่อต้านอวัยวะใหม่ด้วย

ที่มา https://www.bbc.com/thai/features-53420332

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95
Hits 367 ครั้ง