ปัจจุบันมีดาวเทียมโคจรรอบโลกกี่ดวง ?

วันที่เผยแพร่: 
Thu 6 October 2022

         หลายปีที่ผ่านมาเรารับรู้มาโดยตลอดถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การพยากรณ์อากาศ สนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคง ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกด้วยดาวเทียม เพื่อบันทึกภาพพื้นผิวโลก ติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และเพื่อการสื่อสาร เป็นต้น แต่ตัวเลขที่แน่นอนคือเท่าไรกันแน่ ?

        อุตสาหกรรมอวกาศกลับเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยอ้างอิงจาก Union of Concerned Scientists (#UCS) พบว่า ณ วันที่ 1 มกราคม 2564 มีดาวเทียมโคจรรอบโลกจำนวน 6,542 ซึ่งแบ่งเป็นดาวเทียมที่อยู่ในสถานะใช้งานได้ปกติจำนวน 3,372 ดวง และอีก 3,170 ดวงเป็นดาวเทียมที่ปลดระวางกลายเป็นขยะอวกาศ

         สาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขของจำนวนดาวเทียมเติบโตมากขนาดนี้ เนื่องมาจาก #ความต้องการข้อมูลจากดาวเทียมในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งดาวเทียมแต่ละดวงจะถูกออกแบบให้ทำการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป บางดวงออกแบบให้เก็บข้อมูลได้หลากหลาย บางดวงออกแบบสำหรับภารกิจเฉพาะด้าน

ดาวเทียมที่ยังใช้งานได้ปกติแบ่งตามประเภทของภารกิจ อ้างอิงจาก #UCS ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ดังนี้
ดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร จำนวน 1,832 ดวง
ดาวเทียมเพื่อการสำรวจโลก จำนวน 906 ดวง
ดาวเทียมเพื่อการพัฒนาและสาธิต จำนวน 350 ดวง
ดาวเทียมเพื่อการนำทาง จำนวน 150 ดวง
ดาวเทียมเพื่อการศึกษาด้าน Space science and observation จำนวน 104 ดวง
ดาวเทียมเพื่อการศึกษาด้าน Earth Science  จำนวน 20 ดวง
ดาวเทียมเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ จำนวน 10 ดวง

10 ประเทศอันดับแรกที่ครองอุตสาหกรรมดาวเทียม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อินเดีย สหภาพยุโรป แคนาดา เยอรมนี และลักเซมเบิร์ก

      การเพิ่มขึ้นของจำนวนดาวเทียมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาดาวเทียมที่มีขนาดเล็กกว่า CubeSat ส่งผลให้สามารถปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กจำนวนมากได้พร้อมกันในการขนส่งสู่อวกาศแต่ละครั้ง อีกสาเหตุหนึ่งก็มาจากยอมรับศักยภาพของข้อมูลจากดาวเทียมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านภูมิสารสนเทศได้หลากหลาย อาทิ การเกษตร ความมั่นคงด้านอาหาร การพัฒนาเมืองและชนบท สุขภาพ การจัดการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม การขนส่งทางน้ำ การจัดการภัยพิบัติ และการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

       "ขยะอวกาศ" ส่วนใหญ่กำลังล่องลอยด้วยความเร็วสูงมากในอวกาศ ทำให้มีโอกาสสูงเช่นกันที่จะเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ยิ่งจะส่งผลให้เกิดขยะอวกาศอีกจำนวนมากที่เป็นอันตราย อาทิ การรบกวนช่องสัญญาณของดาวเทียมที่ใช้งานอยู่ใกล้เคียง การส่งสัญญาณไปรบกวนการสื่อสารระหว่างนักบินอวกาศและสถานีอวกาศอวกาศนานาชาติ และสุดท้ายขยะอวกาศอาจจะสร้างความเสียหายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่นำไปสู่ภัยพิบัติขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งขยะอวกาศยังเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของผู้คนและทรัพย์สินทั้งบนโลกและในอวกาศ รวมถึงการปฏิบัติสำรวจอวกาศในอนาคตอีกด้วย

         นี่คือเหตุผลที่การจัดการการจราจรในอวกาศและการตรวจสอบเศษซากขยะอวกาศเป็นความท้าทายระดับโลกที่ต้องแก้ไขทันที Inter-Agency Space Debris Coordination Committee (IADC) ซึ่งเป็นเวทีระดับนานาชาติของหน่วยงานภาครัฐสำหรับการประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของเศษซากขยะอวกาศทั้งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์และธรรมชาติในอวกาศ ได้ให้แนวทางในการลดเศษซากและสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เมื่อเร็วๆ นี้ ESA ก็ได้เปิดตัวโครงการสร้างดาวเทียม ClearSpace-1 ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจแรกของโลกในการกำจัดเศษซากอวกาศ ซึ่งมีกำหนดส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี พ.ศ. 2568

เผยแพร่ : ณภัทร โพธิ์อยู่ (เจ้าหน้าที่บริหารจัดการเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety

แหล่งที่มา
https://www.gistda.or.th/ewtadmin/ewt/gistda_web/news_view.php?n_id=1487...

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87
Hits 3,591 ครั้ง