ผู้ป่วยมะเร็งชาวอังกฤษ 'ปลอด' จากเชื้อเอชไอวี หลังจากได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

วันที่เผยแพร่: 
Tue 12 March 2019

แพทย์ระบุในวารสารเนเจอร์ (Nature) ว่า "ตรวจไม่พบ" เชื้อเอชไอวีในร่างกายคนไข้คนหนึ่งในสหราชอาณาจักร หลังจากได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งถือเป็นกรณีที่ 2 ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

คนไข้ในกรุงลอนดอนรายนี้ซึ่งได้รับการรักษามะเร็ง ตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีมานาน 18 เดือนแล้ว และไม่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีอีกต่อไป

นักวิจัยระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าคนไข้รายนี้ "หายจาก" การติดเชื้อเอชไอวี

ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ในทางปฏิบัติไม่สามารถใช้วิธีนี้รักษาคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตกับเอชไอวีได้ แต่อาจจะช่วยการค้นพบวิธีรักษาในสักวันหนึ่ง

คนไข้ชายรายดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับการระบุชื่อ ถูกวินิจฉัยว่า ติดเชื้อเอชไอวีในปี 2003 และเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินส์ (Hodgkin's lymphoma) ขั้นรุนแรงในปี 2012

เขาได้รับเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองและยังได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่สามารถต้านทานเชื้อเอชไอวี ทำให้ขณะนี้ตรวจไม่พบทั้งมะเร็งและเชื้อเอชไอวีในตัวเขา

คณะผู้ศึกษานี้ประกอบด้วย นักวิจัยจากยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน (University College London), อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London), มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

'ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ'
นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่ตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการนี้

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทิโมที บราวน์ คนไข้อีกรายหนึ่งในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้บริจาคที่มีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสเอชไอวีตามธรรมชาติ

เชื่อว่า ทิโมที บราวน์ เป็นคนแรกที่ "เอาชนะ" เอชไอวี/เอดส์ หลังจากที่เขาได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก 2 ครั้ง และได้รับรังสีบำบัดทั่วร่างกายเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นวิธีการรักษาเชิงรุกอย่างมาก

ศ. ราวินดรา กุปทา จาก UCL ผู้นำการศึกษา ระบุว่า "การที่ตรวจไม่พบเชื้อในคนไข้รายที่ 2 ด้วยการใช้วิธีการคล้ายคลึงกัน เราได้แสดงให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดในคนไข้ที่เบอร์ลินไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และมันเป็นวิธีการรักษาจริง ๆ ที่ช่วยกำจัดเชื้อเอชไอวีในผู้ป่วย 2 คนนี้"

ศ. เอดูอาร์โด โอลาวาร์เรีย ซึ่งได้ร่วมวิจัยในครั้งนี้ จากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า ความสำเร็จของการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ทำให้มีความหวังว่าอาจจะมีการพัฒนายุทธศาสตร์ใหม่ในการจัดการกับเชื้อไวรัส

แต่เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "การรักษานี้ไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นมาตรฐานรักษาเอชไอวีเนื่องจากพิษที่ได้จากรังสีบำบัด ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นต้องใช้เพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง"

คนไข้สามารถหยุดรับยาต้านไวรัสที่ใช้ควบคุมเชื้อเอชไอวีได้
มันทำงานอย่างไร?
ซีซีอาร์ 5 (CCR5) เป็นตัวรับเชื้อเอชไอวี-1 (HIV-1) ให้เข้าสู่เซลล์ โดยเอชไอวีสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่พบเป็นส่วนใหญ่

แต่ในคนจำนวนไม่มากที่ต้านทานเชื้อเอชไอวี มีตัวรับ ซีซีอาร์ 5 ที่กลายพันธุ์ 2 แบบ ทำให้ไวรัสเอชไอวีไม่สามารถเข้าไปในเซลล์ของร่างกายได้ตามปกติ

คนไข้ในลอนดอนได้รับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่มี ซีซีอาร์ 5 กลายพันธุ์ จึงทำให้เขาต้านทานเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ด้วย

แต่เซลล์ที่มีเอชไอวีอยู่อาจจะยังคงอยู่ในร่างกายในภาวะสงบนานหลายปี

นักวิจัยของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการรักษาทางพันธุกรรมด้วยการจัดการกับตัวรับซีซีอาร์ 5 ในคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับเอชไอวี โดยขณะนี้พวกเขารู้แล้วว่าการรักษาผู้ป่วยในเบอร์ลินไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย

เอดส์: 8 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี
เอชไอวี/เอดส์: จาก 'เด็กขายบริการ' สู่พรรค 'อนาคตใหม่' และเป้าหมาย 'เอชไอวีเป็นศูนย์'
เอดส์ : “พีท คนเลือดบวก” กับเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ภายในสองปี
ศ. เกรแฮม ครูก นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ (National Institute for Health Research) และผู้บรรยายเกี่ยวกับโรคติดเชื้อจากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า ผลการศึกษา "น่าพอใจ"

"ถ้าเราเข้าใจดีขึ้นว่าทำไมกระบวนการนี้ได้ผลในคนไข้บางคน และไม่ได้ผลกับคนอื่น เราจะเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดในการรักษาเอชไอวี"

"ขณะนี้กระบวนการนี้ยังมีความเสี่ยงมากเกินไปที่จะใช้รักษาคนไข้ที่ไม่ได้มีอาการผิดปกติอย่างอื่น"

'สำคัญอย่างยิ่ง'
ดร. แอนดรูว์ ฟรีดแมน ผู้บรรยายเกี่ยวกับโรคติดเชื้อและแพทย์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็น "รายงานที่มีความสำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่ง"

แต่เขากล่าวว่า จะต้องมีการติดตามผลนานกว่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าไวรัสไม่กลับมา

"ขณะที่วิธีการรักษาเช่นนี้ มีความชัดเจนว่าไม่สามารถนำไปรักษาผู้คนทั่วโลกหลายล้านคนที่ใช้ชีวิตกับเอชไอวีได้ แต่รายงานเช่นนี้ อาจช่วยในการพัฒนาการรักษาเอชไอวีได้"

เขากล่าวว่า ระหว่างนี้ก็ต้องให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีอย่างรวดเร็ว และเริ่มให้ยาต้านไวรัสแก่คนไข้ตลอดชีวิต

วิธีนี้ช่วยป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่ไปสู่คนอื่น และทำให้คนที่ใช้ชีวิตกับเอชไอวีมีอายุขัยใกล้เคียงกับคนปกติ

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%A9-%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%B5-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%8C
Hits 318 ครั้ง