ฝุ่น : เอ็นจีโอระบุคนไทยตระหนกเพราะเพิ่งรู้ข้อมูลมลพิษทางอากาศตัวสำคัญ

วันที่เผยแพร่: 
Mon 25 February 2019

เอ็นจีโอชี้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ปีนี้ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าหลายปีก่อนหน้า แต่รัฐเพิ่งยอมเปิดข้อมูลดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ครบถ้วนเมื่อไม่นานมานี้ กรมควบคุมมลพิษยืนยันรวมข้อมูล PM 2.5 ไว้แล้ว

"จริง ๆ แล้วสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในปีนี้ ไม่ได้แย่ไปกว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่เป็นครั้งแรกที่ภาครัฐได้เปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้" นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเชียงใต้ กล่าวกับบีบีซีไทยถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองที่คนกรุงเทพฯ และบางจังหวัดต้องเผชิญในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เขาอธิบายว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพิ่งได้รวมเอาค่า PM 2.5 เข้าไปในดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากที่ก่อนหน้านี้ระบุแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศว่าเกิดจาก โอโซน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 10 ไมโครเมตร หรือ PM 10 โดยไม่ได้รวมค่าของ PM 2.5 ลงไปในรายงานสภาพมลพิษทางอากาศเลย

ค่าชี้วัดที่ถูกซ่อนเร้น
ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของกรีนพีซกล่าวอีกว่าในการคำนวณคุณภาพอากาศและเผยแพร่ผลผ่านเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษและแอปพลิเคชั่น Air4Thai ตั้งแต่ปี 2553-2561 นั้น เป็นข้อมูลที่แสดงผลไม่สมบูรณ์ โดยหากรวมค่า PM 2.5 เข้าไว้ด้วย ผลที่แสดงออกมาเป็นสีในพื้นที่ต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปทันที โดยจะเข้าข่ายเป็นพื้นที่สีแดง ที่ชี้ให้เห็นว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

องค์การอนามัยโลกตั้งมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 1 ปีไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. แต่กรมควบคุมมลพิษของไทย กำหนดเพดานฝุ่นละอองเฉลี่ย 1 ปี ที่ 25มคก./ลบ.ม. และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ 50 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่เกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของไทยกำหนดระดับ 101-200 อยู่ในระดับสีส้ม แต่หากเปรียบเทียบกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) หากค่ามลพิษทางอากาศเกิน 150 จะถือเป็นพื้นที่สีแดง หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ

"ถึงแม้ว่าทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจะไม่เคยปกปิดข้อมูลของ PM 2.5 แต่ภาครัฐไม่เคยรวมข้อมูลตัวนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการรายงานสภาพมลพิษในอากาศ และนี่คือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าค่ามาตรฐานของปีนี้สูงมากกว่าทุกปี แต่ในความเป็นจริงแล้วค่ามลพิษในอากาศสูงเช่นนี้ทุกปี" นายธารา ระบุ เขาบอกด้วยว่าแม้จะมีการเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแต่ก็ยังไม่เห็นนโยบายใดที่ยั่งยืนและจะป้องกันไม่ให้ปัญหากลับมาเกิดซ้ำอีก
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยในแต่ละปีของกรมควบคุมมลพิษพบว่ามีการกล่าวถึงผลของ PM 2.5 พร้อมคำอธิบายอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 มาจนถึงปัจจุบัน และตัวรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยจะแยกแสดงผลของภาพรวมของมลพิษจำแนกเป็นแต่ละชนิดตลอดทั้งปีอย่างชัดเจน แต่ในส่วนของแอปพลิเคชัน Air4Thai ที่เป็นดัชนีชีวัดมลพิษทางอากาศแบบรวมนั้นไม่สามารถเรียกดูผลย้อนหลังได้เกินกว่าเดือนมกราคมของปีนี้ จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนว่ามีการแสดงผลครบถ้วนหรือขาดผลของ PM 2.5 ตามที่กล่าวอ้างไว้จริง

บีบีซีไทยพยายามติดต่อกรมควบคุมมลพิษในแผนกมลพิษทางอากาศ แต่ทางกรมฯ ไม่สามารถยืนยันข้อมูลที่กล่าวอ้างได้ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ดูแลด้านข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ได้บอกคร่าว ๆ ว่าค่า PM 2.5 ได้ถูกบรรจุรวมไว้ในการคำนวณค่ามลภาวะทางอากาศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การเคลื่อนไหวเพื่อร้องเรียนการทำงานของรัฐต่อศาลปกครองหากพบว่ามีการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งนายธารา แห่งกรีนพีซเห็นว่าการฟ้องร้องแบบกลุ่ม หรือที่เรียกว่า class action จะกระทำในกรณีที่มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และเป็นวิธีการฟ้องร้องซึ่งนิยมทำในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี จะต้องมีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนทั้งในแง่ผลกระทบที่เกิดขึ้น และการละเลยในการแก้ปัญหาของภาครัฐ การต่อสู้คดีในลักษณะนี้จะใช้เวลาอาจจะถึง 6-10 ปี ในการพิสูจน์

"กระบวนการทางกฎหมายถ้าเกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์มาก ๆ ต่อการรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเกิดอะไรขึ้น และช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน และต่อสาธารณะว่าได้ทำหน้าที่อย่างเพียงพอแล้วหรือละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ผ่านเอกสารต่าง ๆ โดยต้องมีกลุ่มภาคประชาชนที่เข้มแข็งมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง" นายธารากล่าว

ด้านนางสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เห็นว่าการฟ้องร้องภาครัฐอาจไม่สำคัญเท่ากับการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพราะการเข้าไม่ถึงฐานข้อมูลด้านคุณภาพอากาศและมลภาวะ ทำให้ไม่มีมาตรการป้องกันดีพอและทำให้ปัญหาบานปลาย

"สิ่งที่ภาคประชาชนควรทำคือการกระตุ้นให้ภาครัฐปรับมาตรฐานด้านดัชนีชี้วัดมลพิษของทั้งประเทศให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก และมีการเปิดเผยข้อมูลให้มากกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ถูกจุด และมีมาตรการควบคุมมลพิษในแต่ละพื้นที่ที่เหมาะสมกับปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ อย่างแท้จริง" นางสุภาภรณ์กล่าว

นางสุภาภรณ์ เห็นว่าสิ่งที่ไทยยังขาดอยู่คือเครื่องวัดคุณภาพอากาศตามปล่องของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้รัฐมีข้อมูลในการจำกัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะเพิ่มผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุดมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการฉีดน้ำไปบนอากาศ

ในช่วงที่ผ่านมานักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมพยายามหาสาเหตุของการเกิดภาวะฝุ่นละออง PM 2.5

ศ.ดร. เสริม จันทร์ฉาย อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านฝุ่นที่ทำงานด้านนี้มากว่า 20 ปี ก็เช่นกัน เขาบอกกับบีบีซีไทย ว่าได้ศึกษาข้อมูลจากดาวเทียม MODIS (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer) ของนาซ่า ที่มหาวิทยาลัยร่วมทำวิจัยอยู่ พบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าเกิดจุดแดง ๆ อันเกิดจากการเผาไหม้ทางการเกษตรอย่างหนาแน่นมากจากทางประเทศเพื่อนบ้านของไทย

ศ.ดร.เสริม ได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากแผนที่ลมระดับสูง และได้ข้อสรุปว่าฝุ่นควันพิษที่ล่องลอยอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทยนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

เขาชี้ให้เห็นความเป็นไปได้โดยยกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นการเคลื่อนตัวของฝุ่นผ่านลมระดับสูงที่เคยเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่น กรณีฝุ่นทรายจากทะเลทรายซาฮาร่าเคลื่อนตัวข้ามมหาสมุทรไปทางสหรัฐอเมริกา ในกรณีฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในไทยก็มีลักษณะเดียวกัน คือ เป็นการเคลื่อนย้ายของฝุ่นละอองที่มาพร้อมลมระดับสูง ประกอบกับสภาพอากาศปิด และการที่ภาคกลางมีพื้นที่เป็นแอ่ง ทำให้ฝุ่นละอองทั้งหมดถูกกักไว้โดยไม่สามารถหาทางออกได้

แต่ ดร. เสริม ยืนยันกับทางบีบีซีไทย ว่าลมที่พัดมาจากอ่าวไทยจะทำให้ฝุ่นละออง PM 2.5 ถูกพัดออกไปจากพื้นที่ภาคกลาง และอีกไม่เกิน 3 สัปดาห์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะกลับมาสู่ภาวะปกติ

"ในเมื่อสาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ไม่ได้เกิดมาจากกิจกรรมที่เกิดภายในประเทศอย่างเดียว ทางภาครัฐควรมีการพูดคุยกันระหว่างประเทศเพื่อหารือร่วมกันในการทำข้อตกลงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เราจะเห็นได้ว่าปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในภาคต่าง ๆ ของไทยนั้นส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านประกอบกับกิจกรรมภายในด้วย ดังนั้นเราควรทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อหาทางออกของปัญหานี้" ดร. เสริม อธิบาย

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D
Hits 294 ครั้ง