พบสารอินทรีย์สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ของดาวเสาร์

วันที่เผยแพร่: 
Tue 10 July 2018

ดวงัจนทร์ของดาวเสาร์

มีการค้นพบโมเลกุลสารอินทรีย์ที่ซับซ้อนซึ่งมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก ในละอองน้ำที่ถูกพ่นออกมาจากมหาสมุทรใต้พื้นผิวของดวงจันทร์ "เอนเซลาดัส" (Enceladus) ซึ่งเป็นบริวารของดาวเสาร์

สารประกอบอินทรีย์ดังกล่าว เดิมพบได้แต่บนโลกและพบในอุกกาบาตเป็นบางครั้งเท่านั้น แต่ในครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์คาดว่า สารเคมีสำคัญที่มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตดังกล่าวก่อตัวขึ้น จากปฏิกิริยาระหว่างน้ำและหินร้อนที่ก้นมหาสมุทรใต้พื้นผิวของเอนเซลาดัสเอง

ดร. แฟรงก์ โพสต์เบิร์ก จากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กของเยอรมนี และคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Nature โดยระบุว่าการค้นพบดังกล่าวมาจากข้อมูลที่รวบรวมโดยยานแคสสินีขณะบินผ่านดวงจันทร์เอนเซลาดัส ก่อนจะทำลายตัวเองด้วยการพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์เมื่อปีที่แล้ว

"นี่เป็นการค้นพบสารอินทรีย์ที่ซับซ้อนครั้งแรกจากดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยน้ำ โดยเป็นสารที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต แต่เรายังบอกไม่ได้ว่า สารอินทรีย์นี้มีความเกี่ยวข้องหรือมาจากสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสหรือไม่" ดร. โพสต์เบิร์กกล่าว

ดวงจันทร์

รายงานการวิจัยระบุว่า สารอินทรีย์ดังกล่าวประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน และอาจรวมถึงไนโตรเจน มีความซับซ้อนยิ่งกว่ากรดอะมิโนหลายชนิด และหนักกว่ามีเทนราว 10 เท่า โดยพบในละอองของน้ำและน้ำแข็งจากไอพ่นขนาดยักษ์ที่พวยพุ่งขึ้นจากมหาสมุทรใต้พื้นผิวสู่ชั้นบรรยากาศบริเวณ "รอยแตกลายเสือ" (Tiger stripes) ที่ขั้วใต้ของดาว

เชื่อว่าใต้พื้นผิวของดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้นเป็นมหาสมุทรทั้งหมด โดยมีแกนกลางที่ร้อนและเป็นรูพรุนซ่อนอยู่ใต้มหาสมุทรที่ลึกถึง 50 กิโลเมตร ความร้อนที่แร่ธาตุบริเวณก้นมหาสมุทรได้รับอาจทำให้เกิดสารอินทรีย์ขึ้นได้

ดร. คริสโตเฟอร์ เกลน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน Southwest Research Institute ของสหรัฐฯ หนึ่งในทีมวิจัยครั้งนี้ระบุว่า "เราได้พบน้ำในสถานะของเหลว แหล่งพลังงาน และโมเลกุลสารอินทรีย์ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่ครบถ้วนต่อการก่อกำเนิดและการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส"

"แต่เราก็ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่า มีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวแห่งนี้หรือไม่ จนกว่าจะมีการตรวจสอบอีกครั้งด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยขึ้น ในภารกิจสำรวจอวกาศครั้งต่อไป"

เจ้าของข้อมูล: 
https://www.bbc.com/thai/features-44642527
Hits 655 ครั้ง