พิษจากปลาปักเป้า

วันที่เผยแพร่: 
Tue 28 September 2021

"พิษปลาปักเป้า" จัดเป็นพิษที่มีความรุนแรงกว่าพิษอื่นๆ ที่เกิดจากพืชและสัตว์ในทะเล โดยพิษดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "tetrodon หรือ puffer poisoning" ส่วนใหญ่พบตามท้องทะเลชายฝั่งตั้งแต่เขตปะการัง โขดหิน หญ้าทะเล น้ำกร่อย ปากแม่น้ำ เฉพาะปลาปักเป้าพบในแม่น้ำ ลําคลอง หนองบึง และลําธาร ที่มีชื่อและคุ้นเคยกันได้แก่ ปลาปักเป้า ปลาปักเป้าหนามทุเรียน ปลางัว (วัว) ปลากวาง ปลากล่อง ปลากระดูก แต่ที่มีประวัติที่ยอมรับว่าสร้างหรือถ่ายทอดพิษที่เรียกว่า "tetrodotoxin" ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากนำมาบริโภค คือ ปลาปักเป้า

"ปลาปักเป้า" ในน้ำน่านไทยพบว่ามีประมาณ 35 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 20-90 เซนติเมตร ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดมี 7 ชนิด มีลักษณะรูปร่างแปลก มีฟันคล้ายจงอยปากนกมี 2-3-4 ซี่ ไม่มีครีบท้อง ส่วนครีบอก ครีบหลัง และครีบก้น ไม่มีก้านครีบที่เป็นหนามแข็ง ทุกครีบมีขนาดเล็กใช้ในการเคลื่อนที่ ส่วนครีบหางใช้เป็นหางเสือ มีเกล็ดเป็นหนามเล็กหรือใหญ่ปกคลุมตามผิวหนังเป็นบางส่วนหรือทั่วไป ที่สำคัญเกือบทั้งตัวสามารถป้องกันตัวเองได้ การพองตัวโดยการถ่ายน้ำหรือลมแล้วแต่โอกาส บางชนิดสามารถทำเสียงได้โดยการขบฟัน เนื้อปลาปักเป้าจะมีกลิ่นเฉพาะ หากผู้ที่รู้จักจะระแวดระวังสามารถสังเกตความแตกต่างได้จึงไม่นำมาบริโภค

จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องพบว่า การเกิดพิษในปลาปักเป้ายังเป็นความสับสนอยู่มาก โดยในเขตร้อนของอินโดแปซิฟิก มีปลาพวกนี้ชุกชุมมาก และมีผู้นิยมนำปลาพวกนี้มาปรุงอาหาร (เช่น ชาวญี่ปุ่น เกาหลี จีน) ซึ่งมีราคาแพงมาก และทั้งรู้ว่ามีพิษซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอในปลาปักเป้า อย่างไรก็ตาม พิษของปลาปักเป้าชนิดเดียวกัน จากเขตหนึ่งมีพิษ แต่อีกเขตหนึ่งกลับไม่มีพิษก็ได้ ยิ่งกว่านั้นปลาชนิดเดียวกันในที่เดียวกันต่างตัวต่างมีพิษไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ ความเป็นพิษของปลาปักเป้าขึ้นอยู่กับระยะการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศในช่วง สืบพันธุ์ โดยทั่วไปเพศเมียจะมีพิษมากกว่าเพศผู้ นักวิชาการให้ข้อมูลว่า อาหารที่ปลากินมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นพิษ คือการได้รับพิษ หรือการเสริมสร้างความเป็นพิษ (ciguatera) นอกจากนี้ยังเป็นไปได้อีกว่าปลาปักเป้าเป็นตัวสะสมพิษ เปลี่ยนแปลงและถ่ายทอด คือเป็นพาหะของพิษ เช่น จากแมงกะพรุน ปลิงทะเล หรือจากพืช จากมอสทะเล สาหร่าย โปรโตซัว การทดลองเอาเนื้อปลาปักเป้าที่มีพิษไปเลี้ยงปลาอีกชนิดหนึ่งพบว่าปลาดัง กล่าวตาย แต่เกิดเป็นพิษขึ้น แสดงว่ามีการถ่ายทอดพิษจากปลาปักเป้าไปสู่ปลาแม้พวกเดียวกันได้ และพิษอาจเกิดจากอาหารที่ปลากิน ผลการศึกษาพบว่า อาหารพวกสาหร่ายที่มีพิษจำนวนมากในทางเดินอาหารของปลาปักเป้าที่มีพิษ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างกว้างต่อไป ปลาปักเป้าหลายชนิดในสกุล Lagocephalus และ Takifugu ซึ่งคนญี่ปุ่นกล้านำมารับประทานกันทั้งที่เป็นปลามีพิษอันตรายมาก และที่น่าวิตกคือปลาพวกนี้หลายชนิดมีลักษณะใกล้เคียงกับปลา

ปักเป้า ที่นำมารับประทานกันทั่วไป อวัยวะที่มีพิษของปลาปักเป้า ได้แก่ หนัง ตับ รังไข่ ทางเดินอาหาร และอาจรวมถึงเลือด เป็นส่วนที่มีพิษมากที่สุด ส่วนเนื้อแม้จะปลอดภัยที่สุด แต่ก็อาจมีพิษในบางครั้งหรือบางโอกาส และบางแหล่งที่อาศัย พิษของปลาปักเป้าไม่มีข้อจำกัดที่ขนาดของตัวปลา ปลาขนาดเล็กอาจมีพิษมากพอที่จะทำให้ผู้บริโภคเสียชีวิตได้ แตกต่างเพียงปริมาณพิษจะขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลาเท่านั้น ซึ่งอันดับแรกที่ต้องสนใจในบรรดาพิษที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเนื้อปลาหรือ สัตว์น้ำ และจัดเป็นพิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) เป็นเบื้องต้น และรุนแรงกว่าไซยาไนด์

สำหรับอาการของผู้ป่วยจากการได้รับพิษของปลาปักเป้า ให้สังเกตอาการดังนี้ คือ ตัวสั่น ซีด วิงเวียน ชาที่รับฝีปาก หรือลิ้น และความผิดปรกติในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้นใน 10-45 นาที หลังจากการบริโภค แต่ก็เคยมีรายงานว่าอาจล่วงเลยถึง 3 ชั่วโมง หรือกว่านั้น ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการกระตุกที่นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือปลายอวัยวะอื่นๆ จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นรู้สึกเหน็บชาอย่างรุนแรง บางกรณีเหน็บชาทั้งตัว โดยขณะนั้นผู้ป่วยจะรู้สึกหวิวทั้งร่างกาย มีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อท่วมตัว อ่อนเพลียอย่างมาก ปวดเมื่อย ปวดหัว อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นช้าลงตั้งแต่เริ่มอาการ ส่วนอาการคลื่นเหียน อาเจียน ถ่ายท้อง และปวดท้อง (กระเพาะอาหาร) ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเหล่านี้อาจไม่ปรากฏเลยก็ได้

นอก จากนี้ยังมีรายงานที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับช่องตาดำ กล่าวคือ จะแคบระยะแรก และเบิกกว้างในระยะต่อมา จนในที่สุดตาจะหยุดเคลื่อนไหวทั้งช่องตาดำ และม่านตาจะคลายตา หลังจากที่เริ่มมีอาการชา จะต้องสังเกตการหายใจซึ่งจะมีการหายใจลำบาก มีอัตราการหายใจถี่ หายใจไม่ลึก หรือไม่เต็มที่ ต่อมาจะหายใจขัด ริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้าและปลายอวัยวะต่างๆ รวมทั้งลำตัวจะซีดเขียว เคยมีรายงานว่าบางคนเกิดมีเลือดซึมตามผิวหนังทั่วตัว มีตุ่มและผิวหนังลอก นอกจากนี้ยังมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก สั่น และบังคับไม่ได้มากขึ้นตามลำดับจนในที่สุดเป็นอัมพาตอย่างรุนแรง โดยอาการนี้จะเริ่มที่คอ และบริเวณต่ำลงไป ทำให้ออกเสียงไม่ได้ กลืนลำบาก และในที่สุดกลืนอะไรไม่ได้ กล้ามเนื้อที่ปลายอวัยวะเป็นอัมพาต และไม่สามารถเคลื่อนไหว ในขั้นสุดท้ายตาของผู้ป่วยจะเหม่อลอย และเกิดอาการชัก มือกำเท้างอ เหมือนเด็กแรกเกิด แล้วผู้ป่วยอาจเข้าขั้นตรีทูต โดยส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกตัว ประสาทรับรู้ต่างๆ ไม่ทำงาน และรอความตาย

แม้ ในญี่ปุ่นเองวิธีแนะนำที่ปลอดภัยที่สุดคือไม่รับประทาน แต่ในกรณีที่เสี่ยงคือต้องรับประทานด้วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรเลือกปลาปักเป้าจากร้านชั้น 1 ที่มีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองโดยมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้นั้นจะต้องมีความรู้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับปลา ปักเป้า และพิษของมันจากอวัยวะต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะอาดเป็นหลัก การเตรียมอาหารโดยการทอด ตุ๋น ปิ้ง ต้ม ฯลฯ ด้วยความร้อนไม่สามารถลดความเป็นพิษของปลาปักเป้าลงได้ การต้มเนื้อปลาด้วยสารละลายโซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นเวลานาน อาจจะช่วยลดพิษของปลาปักเป้าได้ แต่ก็ทำลายรสชาติและความละมุนของเนื้อปลาจนไม่น่ารับประทาน

อนึ่ง แม้ญี่ปุ่นจะก้าวหน้ามากในเรื่องพิษของปลาปักเป้าเกือบทั้งหมดที่นำมาบริโภค หรือรู้จักกัน แต่ก็ถือว่าไม่ปลอดภัยโดยสิ้นเชิง เพราะยังมีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคปลาปักเป้าในแต่ละปี

ทางที่ปลอดภัยที่สุดคือ ควรละที่จะนำปลาพวกนี้โดยเฉพาะจากเขตร้อนมาบริโภค แต่หากอยู่ในภาวะที่ถ้าไม่กินจะต้องตาย ก็ขอแนะนำว่าให้แน่ใจว่าได้เอาเครื่องในและหนังปลาออกอย่างหมดจดทันที โดยไม่มีการปนเปื้อน และใช้ส่วนเนื้อมาบริโภคเท่านั้น โดยนำเนื้อปลามาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แช่น้ำ 3-4 ชั่วโมง โดยมีการขยำเนื้อในน้ำเย็นที่สะอาดและเปลี่ยนน้ำเสมอ สารพิษที่ละลายน้ำได้ หากมีอยู่ก็จะละลายน้ำออกไปไม่มากก็น้อย

ยังมีการทดลองที่พบว่าการฉีดหรือการได้รับพิษปลาปักเป้าอยู่เสมอเป็นเวลานาน ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ในญี่ปุ่นมีรายงานว่าผู้บริโภคปลาปักเป้าเป็นกิจวัตร ก็ยังมีอาการมึนเมาด้วยพิษและยังมีกรณีที่มีคนเสียชีวิตจากปลาปักเป้าอีก และถึงทุกวันนี้ยังไม่มีวิธีการใดที่จะใช้ตรวจสอบว่าปลาปักเป้าที่นำมาบริ โภคปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงมากสำหรับผู้บริโภคปลาปักเป้า คนญี่ปุ่นกับการรับประทานปลาปักเป้า ปรกติปลาปักเป้าจะติดขึ้นมากับเครื่องมือประมงซึ่งเป็นผลพลอยได้ และจะถูกคัดทิ้งไป แต่มีเฉพาะบางเขตของโลกเท่านั้นที่จัดว่าปลาปักเป้าเป็นอาหารที่คนไขว่คว้า

ในญี่ปุ่นปลาปักเป้าเป็นอาหารทรงคุณค่ากว่าปลาอื่นๆ ทุกชนิด ส่วนใหญ่ปลาเหล่านี้ถูกจับขึ้นในทะเลจีนทางตะวันออก แต่ถือว่าไม่ได้คุณภาพเท่าปลาที่ถูกจับขึ้นได้ทางทะเลตะวันตกเฉียงใต้ของ เกาะฮอนชู และทางเหนือของเกาะคิวชิว ปลาจะถูกแช่แข็งหรือขังปลาเป็นไว้กับน้ำทะเลส่งเข้าเมืองใหญ่ให้แก่ภัตตาคาร ต่างๆ ฤดูกินปลาปักเป้าในญี่ปุ่นเริ่มในเดือนตุลาคมจนถึงเดือนมีนาคม ช่วงที่สำคัญที่สุดคือระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งราคาจะแพงที่สุด โดยเฉพาะปลาปักเป้า Fugu rubripes rubripes ในช่วงเริ่มเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระยะที่อวัยวะสืบพันธุ์ของปลาขยายเต็มที่ และเป็นระยะที่มีพิษมากที่สุด แต่รสชาติของเนื้อปลาก็จะเสื่อมไป จนกระทั่งอวัยวะเพศได้ลดขนาดลงรสชาติของเนื้อปลาก็จะดีขึ้นตามลำดับ ปลาปักเป้าที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทาน แต่จะต้องจ่ายในราคาสูงมาก มี 4 ชนิด ได้แก่

1. Fugu rubripes rubripes (เนื้อและหนังไม่เป็นพิษ แต่ตับ รังไข่ และทางเดินอาหารเป็นพิษรุนแรงมาก)
2. F. vermicularis vermicularis
3. F. vermicularis pophyreus
4. F. pardalis

(ทั้ง 3 ชื่อหลังนี้มีส่วนหนังเป็นพิษรุนแรงและมีกล้ามเนื้อที่บางครั้งมีพิษอ่อน)

วิธีการเตรียมและรับประทานปลาปักเป้าถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมหรือวัฒนธรรม อย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่น ในหมู่ของคนมีฐานะดี ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะไม่ใฝ่หาในรสชาติของเนื้อปลา แต่จะรู้สึกซาบซ่านอย่างบอกไม่ถูกเมื่อได้สัมผัสกับพิษที่พอยังมีอยู่อย่าง อ่อนในเนื้อปลา ซึ่งจะทําปฏิกิริยาทําให้รู้สึกผ่อนคลายพร้อมกับการมีอารมณ์อุ่นใจและกาย เลือดลมสูบฉีด ลิ้นและริมฝีปากรู้สึกเป็นอัมพาตอ่อนๆ แต่สบาย แต่บางคนจะไม่รู้สึกดังกล่าวจึงเป็นความเห็นและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-science/item/2118-puffer

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%B2
Hits 2,063 ครั้ง