มารู้จักดาวหางกันให้มากขึ้นกันดีกว่า

วันที่เผยแพร่: 
Tue 27 April 2021

ในอดีตที่ผ่านมานั้นมนุษย์เรารู้จักดาวหางเพียงแค่ว่ามันเป็นวัตถุก้อนกลม ๆ อยู่บนฟ้าที่ทอดหางยาว คนในยุคนั้นส่วนใหญ่มองดาวหางไปในทางอัปมงคลและยังมีความเชื่อกันอีกว่าเมื่อพบเห็นดาวหางจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงลางร้าย เป็นทูตแห่งความตายและสงครามต่างๆนานา หรือแม้แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ทำนายพยากรณ์ ในเชิงวิทยาศาสตร์นั้นความรู้เกี่ยวกับดาวหางมีความก้าวหน้าไปอย่างเชื่องช้า เริ่มตั้งแต่ในปี 635 ก่อนคริสต์ศักราช โดยมีนักดาราศาสตร์จีนตั้งข้อสังเกตว่าหางของดาวหางชี้ออกจากดวงอาทิตย์เสมอ แต่อย่างไรก็ตามคนในยุคแรกก็ยังมีความเชื่อว่าดาวหางน่าจะเป็นวัตถุที่อยู่ในชั้น บรรยากาศของโลก เนื่องจากดาวหางมีรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วชนิดวันต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งก็ต่างจากวัตถุบนท้องฟ้าชนิดอื่นๆที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ การศึกษาดาวหางอย่างเป็นระบบน่าจะเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 16 เมื่อ ทีโค บราห์ วัดระยะห่างของดาวหางด้วยวิธีแพรัลแลกซ์ จนได้ข้อสรุปว่าดาวหางเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเหนือบรรยากาศโลก และโคจรรอบดวงอาทิตย์

ดาวหาง เป็นวัตถุชนิดหนึ่งในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ มีส่วนที่ระเหิดเป็นแก๊สเมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดชั้นฝุ่นและแก๊สที่ฝ้ามัวล้อมรอบ จึงเกิดเป็นส่วนที่ทอดเหยียดออกไปภายนอกจนมองดูด้วยตามีลักษณะคล้ายหาง ลักษณะเช่นนี้เกิดจากปรากฏการณ์การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ไปบนนิวเคลียสของดาวหางนั่นเอง และส่วนของนิวเคลียสหรือที่เรียกว่าใจกลางดาวหางนั้นจะประกอบไปด้วย "ก้อนหิมะสกปรก" และเต็มไปด้วยน้ำแข็ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย และมีฝุ่นกับหินแข็งปะปนรวมกันอยู่มากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ประกอบรวมกันจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตรไปจนถึงหลายสิบกิโลเมตร และเมื่อมีแรงภายนอกมากระทำ เช่น ซูเปอร์โนวา (Supernova) หรือดาวฤกษ์ระเบิด ดาวหางจะหลุดออกจากถิ่นกำเนิดและถูกแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ดึงดูดมาเป็นบริวาร วงโคจรของดาวหางจึงยาวไกลและมีความรีมาก ไม่อยู่ในระนาบสุริยวิถี เนื่องจากเมฆออร์ทมีลักษณะเป็นทรงกลมที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์ ดาวหางจึงเคลื่อนที่เข้าดวงอาทิตย์ได้จากทุกทิศทาง

ส่วนประกอบหลักของดาวหางแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่เป็นของน้ำแข็ง หรือที่เรียกว่า นิวเคลียส (Nucleus) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อดาวหางเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น

น้ำแข็งจากนิวเคลียสส่วนหนึ่งจะละลายกลายเป็นบรรยากาศที่ปกคลุมนิวเคลียส เรียกว่า โคมา (Coma)

ส่วนหางของดาวหางที่แบ่งเป็น 2 ส่วนย่อยคือ หางไอออน (ion tail) ซึ่งเป็นอนุภาคมีประจุจากส่วนโคมาที่ถูกลมสุริยะพัดทำให้มีทิศชี้ออกจากดวงอาทิตย์ หางส่วนที่สองเรียกว่า หางฝุ่น (dust tail) เกิดจากอนุภาคที่ไม่มีประจุจากโคมา โดยส่วนของหางฝุ่นนี้จะโค้งตามการเคลื่อนที่ของดาวหางด้วย

การศึกษาดาวหางอาจช่วยให้เราสามารถมองเห็นการกำเนิดระบบสุริยะได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถอธิบายแหล่งที่มาเกี่ยวกับน้ำบนโลกได้ รวมถึงอาจตอบคำถามได้ว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร ดาวหางอาจมีบทบาทเป็นผู้ให้ชีวิตบนดาวเคราะห์โลก ในทางกลับกัน วันหนึ่งข้างหน้าอาจมีดาวหางบางดวงพุ่งตรงมายังโลก ยุติชีวิตทั้งหมดบนดาวเคราะห์ดวงนี้ก็ได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมการหาวิธีหลีกเลี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นจากดาวหาง ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องศึกษาดาวหางต่อไป

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-earthscience/item/11650-2020-06-30-03-46-53

Nasa Science. Planets in Our Solar System. : a review. Retrieved June 23, 2020, from https://solarsystem.nasa.gov/planets/overview/

Armand H. Delsemme,Paul Weissman. Comet. : a review. Retrieved June 23, 2020, from https://www.britannica.com/science/comet-astronomy

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2
Hits 362 ครั้ง