มีไข้ นี่ฉันป่วยเป็นอะไรกันนะ?

วันที่เผยแพร่: 
Thu 25 January 2024

   เชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่แพร่กระจายในอากาศเป็นปัจจัยที่ทำให้เพิ่มโอกาสติดเชื้อของโรคต่าง ๆ เช่น ไข้เลือด, โรคระบบทางเดินหายใจ, ไข้หวัดใหญ่, โควิด-19 ทำให้การปฏิบัติมาตรการป้องกันเป็นสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงและส่งเสริมสุขภาพทั่วไปของสังคม

โรคทั้ง 3 มีการที่เหมือนกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย หมดแรง อาจจะมีอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องอืด ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย

โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A และโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งแยกความแตกต่างกันแทบจะไม่ได้เลย ในเบื้องต้นแนะนำให้ตรวจ ATK เพื่อวินิจฉัยอาการเบื้องต้นด้วยตนเองก่อน ว่ามีผลติดเชื้อไวรัส Covid-19 หรือไม่

สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A และโรคโควิด-19 ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นชัดเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ ไอมีเสมหะ ไอแห้ง เจ็บคอ เสียงแหบ (บางราย) มีน้ำมูก คัดจมูก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว จะพบว่ามีอาการแน่นจมูก มีน้ำมูก ได้บ่อยกว่าคนทั่วไป

ส่วนโรคไข้เลือดออก เป็นโรคไม่ติดต่อจากคนสู่คน มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ลักษณะอาการที่เด่นชัดของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงนาน 2-7 วัน ปวดตามร่างกาย ตัวแดง ตาแดง และจะมีผื่นแดงขึ้น คันตามร่างกาย ปลายมือ และปลายเท้า ในช่วงที่ใกล้หาย

ทั้ง 3 โรคนี้จะมีอาการเหมือนกันที่สังเกตได้ คือ มีไข้สูง สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 จะสังเกตได้ว่าคนรอบตัว หรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคเดียวกัน มีอาการของระบบทางเดินหายใจคล้ายกัน โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ติดต่อกันได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว หรือในสถานที่ทำงานเดียวกัน

ส่วนโรคโควิด-19 มักพบว่า มีการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์โควิดเล็กๆ หรือแหล่งที่มาของการติดเชื้ออยู่เป็นระยะ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ชัดว่ามีต้นทางมาจากที่ใด เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะสัมผัสรับเชื้อจากคนอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน คลัสเตอร์สามารถเป็นได้ทั้งสถานที่ กิจกรรม หรือกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกัน เช่น ปาร์ตี้ คอนเสิร์ต สนามกีฬา เป็นต้น

สำหรับโรคไข้เลือดออก มักพบว่ามีสมาชิกที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันป่วยเหมือนกันได้ แต่จะไม่ติดต่อจากคนสู่คน สาเหตุเกิดจากยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มากัด ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น ให้สังเกตอาการคนรอบตัวของเราว่า มีประวัติป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ หรือ โควิด-19 หรือเปล่า และหากมีอาการแสดงภายใน 7 วัน หรือมีไข้สูงเฉียบพลันขึ้นมา ให้สงสัยว่าเราอาจป่วยเป็น 3 โรคนี้ได้!

โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 ทั้ง 3 โรคนี้มีวัคซีนที่ช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้

  • วัคซีน Covid-19 มีประสิทธิภาพช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ทุกกลุ่มอายุ 80-90% โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ตั้งแต่ 3 เข็มขึ้นไป
  • วัคซีนไข้เลือดออก มีประสิทธิภาพช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ 90% โดยฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 6 เดือน สามารถช่วยลดความรุนแรงได้ตลอดชีวิต
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากเชื้อไข้หวัดมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในแต่ละปี

วิธีการป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เป็นวิธีที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หมอจะขอทบทวนและเน้นย้ำให้ทุกคนดูแลตนเอง โดยสวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน โดยหน้ากากต้องแนบสนิทกับใบหน้า ครอบคลุมตั้งแต่สันจมูกจนถึงปลายคาง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป รักษาระยะห่างกับคนอื่น ไม่ไปในสถานที่แออัด หรืออับอากาศ

การป้องกันโรคไข้เลือดออก สามารถทำได้โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แหล่งน้ำนิ่ง ทำความสะอาดบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายมาเกาะพัก รวมไปถึงเก็บขยะ เศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้

แหล่งที่มา

https://www.sikarin.com/category/doctor-articles

เผยแพร่ : นายปฏิภาณ นามแก้ว
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%89-%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B0
เจ้าของข้อมูล: 
โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ
Hits 369 ครั้ง