รู้ไหมทำไมต้นไม้ใบถึงด่าง?

วันที่เผยแพร่: 
Mon 4 October 2021

สาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ใบด่าง

1.ขาดแสงสว่าง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตคลอโรฟิลล์ที่ทำให้ต้นไม้มีใบสีเขียว สังเกตได้จากการนำต้นไม้ปกติไปวางในที่มืด ผ่านไปไม่กี่วันใบก็จะเป็นสีขาวซีดและอ่อนแอ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับการเพาะถั่วงอกหรือกุยช่ายให้มีใบสีขาวหรือเขียวอ่อน โดยหากนำมาออกแดดก็จะให้ใบสีเขียวตามเดิม

2.ขาดสารอาหาร สารบางตัวมีผลต่อการสร้างเม็ดสีของใบ โดยหากต้นไม้ขาดแมกนีเซียม ใบจะเป็นสีเหลืองแต่เส้นใยยังเขียวอยู่ ถ้าขาดกำมะถันหรือฟอสฟอรัส ต้นมีจะใบด่างเหลืองทั้งใบ ซึ่งอาการจะหายไปหากได้รับสารอาหารดังกล่าวในดินครบถ้วน

3.เนื้อเยื่อใบมีอากาศมาก อาการดังกล่าวส่งผลให้เมื่อแสงแดดไปตกกระทบใบจะเกิดการหักเหของแสง ทำให้ใบเป็นสีเทาเงิน พบมากในป่าธรรมชาติ อาการดังกล่าวจะเป็นถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สามารถจำแนกเป็นพันธุ์อื่นได้ เช่น พลูลงยา แนบอุรา หรือคล้าบางชนิด

.ความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดจากปัจจัยภายนอกที่กระทบโครงสร้างทางพันธุกรรมของต้นไม้ เช่น สารเคมีหรือสารกำมันตภาพรังสี ทำให้ต้นไม้ดังกล่าวกลายพันธุ์จากลักษณะเดิม นอกจากนี้ยังใช้ในวงการตัดแต่งพันธุ์ต้นไม้เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่มีความทนทานหรือมีคุณลักษณะที่โดดเด่นกว่าสายพันธุ์เดิม แต่ไม่สามารถควบคุมลักษณะให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ โดยต้นแม่พันธุ์นั้นจะมีความสำคัญในการควบคุมลักษระด่างได้ดีกว่าต้นพ่อพันธ์ุดังรายละเอียดดังนี้

แม่กิ่งใบเขียว+พ่อกิ่งใบเผือก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเขียว

แม่กิ่งใบเขียว +พ่อกิ่งใบด่าง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเขียว

แม่กิ่งใบเผือก + พ่อกิ่งใบเขียว ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเผือก

แม่กิ่งใบเผือก + พ่อกิ่งใบเผือก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเผือก

แม่กิ่งใบเผือก + พ่อกิ่งใบด่าง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเผือก

แม่กิ่งใบด่าง + พ่อกิ่งใบเขียว ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทั้งใบเขียว เผือก ด่าง

แม่กิ่งใบด่าง + พ่อกิ่งใบเผือก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทั้งใบเขียว เผือก ด่าง

แม่กิ่งใบด่าง + พ่อกิ่งใบด่าง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทั้งใบเขียว เผือก ด่าง

มีข้อสังเกตว่าในประเทศญี่ปุ่นพบไม้ใบด่างจำนวนมาก ทำให้บางคนสันนิศฐานว่าอาจเป็นเพราะผลพวงของกัมมันตภาพรังสีของระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

5.เกิดจากโรค  หากอาการของต้นไม้ในสวนมีการเจริญเติบโตผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นใบมีลายสีด่างหรือสีเขียวไม่สม่ำเสมอกัน เล็กหรือย่น ส่วนยอดหรือดอกหงิกงอผิดจากรูปทรงเดิมและไม่ติดผล ลำต้นแคระแกร็น มีกิ่งก้านสั้นกว่าปกติ อาจเป็นอาการของโรคใบด่างในต้นไม้ หรือ Mosaic Virus ซึ่งเกิดจากไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อและสารคลอโรฟิลล์จนส่วนต่างๆ ของต้นมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติมักพบมากในมะละกอ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มันฝรั่ง หากตัดแต่งด้วยกรรไกรหรืออุปกรณ์เดียวกันก็สามารถแพร่ไปสู่ต้นอื่นได้ นอกจากนี้ยังมีไวรัส Mottled ที่ทำให้เกิดอาการด่างเป็นจุดๆ ยังมี Vascular ที่ทำให้ด่างเฉพาะเส้นใยอีกด้วย ในบางครั้งโรคดังกล่าวก็ไม่ร้ายแรงมาก เพียงแค่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้าเท่านั้น

โรคดังกล่าวไม่สามารถป้องกันหรือกำจัดด้วยสารเคมี วิธีแก้ไขให้ตัดเอาชิ้นส่วนหรือต้นไม้ที่มีอาการมากไปเผาและทำลาย เพื่อลดการระบาด หรือเลือกพันธุ์ต้นไม้ที่ต้านทานโรคไวรัส นอกจากนี้ควรกำจัดแมลงพาหะโดยเฉพาะเพลี้ยอ่อน โดยฉีดพ่นด้วยมาลาไทออนหรือเอส 85

รูปภาพ : https://blog.leonandgeorge.com/

แหล่งที่มา : https://www.baanlaesuan.com/88572/plant-scoop/leaf-tree

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87
Hits 559 ครั้ง