สัตว์เลี้ยงแสนรักมีประโยชน์ จริงหรือไม่สัตว์เลี้ยงแสนรักมีประโยชน์ จริงหรือไม่

วันที่เผยแพร่: 
Thu 2 April 2020

การศึกษาวิจัยโดยนักจิตวิทยายืนยันว่า การมีสัตว์เลี้ยงแสนรักอาจมีคุณค่าทางจิตใจและมอบความสุขให้แก่ผู้เลี้ยง แต่ในความเป็นจริงนั้น ยังไม่มีการวิจัยที่สรุปได้จริงว่า สัตว์เลี้ยงนั้นมีประโยชน์ต่อมนุษย์จริงหรือไม่

ปัจจุบัน ผู้คนนิยมเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะความรักในสัตว์ประเภทหนึ่งๆ ความเหงา หรือเพราะกระแสนิยม และหลายคนเชื่อว่า การมีสัตว์เลี้ยงนั้นมีประโยชน์จริง แม้นักวิจัยยังไม่สามารถยืนยันความเชื่อนี้ได้

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ศาสตราจารย์แฮโรลด์ เฮอร์ซอก ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และเป็นผู้รักสัตว์ จากมหาวิทยาลัย เวสต์เทิรน์ แคโรไลนา กล่าวว่า การมีสัตว์เลี้ยงนั้นมีประโยชน์มากมายแก่ผู้เลี้ยง อาทิ อัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น โอกาสการมีอาการหัวใจวายที่น้อยลง มีความเหงาน้อยลง ความดันเลือดดีขึ้น สุขภาพจิตที่ดีขึ้น การมีปัญหาซึมเศร้าหดหู่และเครียดน้อยลง การที่ไม่ต้องไปพบแพทย์บ่อย มีความพอใจและนับถือตัวเองมากขึ้น นอนหลับพักผ่อนดีขึ้น และมีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์เฮอร์ซอก บอกว่า งานวิจัยก็สรุปด้วยว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้นกลับมีโอกาสที่จะตกอยู่ในภาวะเหงา ซึมเศร้า และเกิดอาการที่เรียกว่า Panic Disorder หรือภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลหรือหาสาเหตุไม่ได้ หรือเกิดอาการของโรคหืดหอบ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคไมเกรน และต้องใช้ยามากขึ้น

เมแกน มุลเลอร์ จากมหาวิทยาลัยทัพส์ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงเช่นกัน ให้ความเห็นว่า แม้ว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งหลายจะมั่นใจว่า การมีเพื่อนคู่ใจสี่ขาทำให้ชีวิตดีขึ้น การศึกษาข้อเท็จจริงทางวิทยาศาตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างไม่มีข้อกังขาว่า สัตว์เลี้ยงนั้นดีต่อสุขภาพของผู้เลี้ยงจริงๆ

มุลเลอร์ บอกว่า ขณะที่คนที่เลี้ยงสัตว์มักถามตัวเองว่า “สัตว์ที่เลี้ยงอยู่นั้นดีต่อตนหรือไม่” เธอกลับมองว่า ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ “ใครเหมาะจะมีสัตว์เลี้ยง ภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบใด และคนและสัตว์เลี้ยงนั้นเข้ากันได้ไหม” มากกว่า

มุลเลอร์ กล่าวว่า งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การมีสัตว์เลี้ยงช่วยผู้เลี้ยงที่มีปัญหาเครียดได้พอสมควร ขณะที่ศาสตราจารย์เฮอร์ซอก กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะมีงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของสัตว์เลี้ยงในการช่วยผู้มีปัญหาโรคซึมเศร้ามามากมาย นักวิจัยยังไม่สามารถสรุปที่ชัดเจนได้ว่า สัตว์เลี้ยงช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้จริงหรือไม่

ขณะเดียวกัน การทดลองผลกระทบของสัตว์เลี้ยงกับเด็กๆ ที่มีปัญหา เช่น โรคสมาธิสั้น หรือออทิสติก สรุปว่า สัตว์เลี้ยงช่วยให้เด็กเหล่านั้นมีพัฒนาการในทางที่ดี หรือมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ขณะที่ผู้ปกครองของเด็กที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นตัวช่วย รู้สึกเครียดน้อยลงไปด้วย

นอกจากนั้น งานศึกษาอีกชิ้นที่จัดพิมพ์ออกมาในปีที่แล้วชี้ว่า ผู้ที่เลี้ยงสุนัขมักมีสุขภาพที่ดีขึ้นหลังรอดชีวิตมาจากอาการป่วยเฉียบพลัน เช่น หัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว แต่งานวิจัยนี้พิสูจน์ได้เฉพาะในกรณีของสุนัขเท่านั้น ขณะที่ยังไม่มีการวิเคราะห์ว่า สัตว์เลี้ยงอื่นๆ จะมีผลดีต่อเจ้าของที่มีประวัติอาการป่วยหนัก

อย่างไรก็ดี สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ออกมาเตือนว่า การมีสัตว์เลี้ยงนั้นเป็นเรื่องมาพร้อมกับข้อผูกมัดทางการเงินและความรับผิดชอบระดับหนึ่ง ดังนั้น การที่คนๆ หนึ่งจะเลี้ยงสัตว์หรือไม่ ไม่ควรเป็นเพราะเหตุผลที่ต้องการจะลดความเสี่ยงโรคประจำตัวร้ายแรง

ท้ายสุด มุลเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยทัพส์ กล่าวว่า มีการเริ่มทำงานวิจัยระยะยาว เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมและอาการของคนที่มีและไม่มีสัตว์เลี้ยง เพื่อหาข้อสรุปว่า ใครควรเลี้ยงสัตวประเภทใด และควรหลีกเลี่ยงสัตว์ประเภทใด เพราะเหตุผลอะไร ซึ่งเธอบอกว่า อาจนำไปสู่การรักษาทางการแพทย์ ที่ผู้ป่วยอาจได้รับการจ่ายยาเป็นสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ก็เป็นได้

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88
Hits 280 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: