สึนามิ สร้างความเสียหายแค่ไหน

วันที่เผยแพร่: 
Fri 23 December 2022

         ทำความรู้จักคลื่นยักษ์ "สึนามิ" กันอีกครั้ง เนื่องจากวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ประเทศไทยต้องพบความสูญเสียรุนแรงจากคลื่นยักษ์หายนะที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ ไปดูกันว่าสึนามิเกิดจากอะไร สร้างความเสียหายได้ขนาดไหน และประเทศไทยจะมีโอกาสพบกับสึนามิครั้งต่อไปหรือไม่

        "สึนามิ" หรือที่หลายคนเรียกกันว่า คลื่นยักษ์สึนามินั้นต่างจากคลื่นน้ำธรรมดา เพราะตัวคลื่นนั้นสามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกล โดยไม่สูญเสียพลังงาน และสามารถเข้าทำลายชายฝั่งที่อยู่ห่างไกลจากจุดกำเนิดหลายพันกิโลเมตร โดยปกติคลื่นสึนามิเป็นคลื่นในน้ำเดินทางได้ช้ากว่าการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่เป็นคลื่นที่เดินทางในพื้นดิน ดังนั้นคลื่นอาจเข้ากระทบฝั่งภายหลังจากที่ผู้คนบริเวณนั้นรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวเป็นเวลาหลายชั่วโมง

สึนามิเกิดจากอะไร ?
        กลุ่มคลื่นน้ำที่เกิดขึ้นจากการย้ายที่ของปริมาตรน้ำก้อนใหญ่ คือ มหาสมุทร หรือทะเลสาบขนาดใหญ่ แผ่นดินไหวในทะเล การปะทุของภูเขาไฟ และการระเบิดใต้น้ำอื่นๆ โดยรวมถึงการจุดวัตถุระเบิด หรือวัตถุระเบิดนิวเคลียร์ใต้น้ำด้วย นอกจากนี้ยังเกิดจากเหตุดินถล่ม ธารน้ำแข็งไถล อุกกาบาตตก และการรบกวนอื่น ไม่ว่าเหนือน้ำหรือใต้น้ำ

สึนามิในประเทศไทยครั้งแรก
       เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 9.2 ศูนย์กลางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ห่างจาก จ.ภูเก็ต ประมาณ 5280 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึง จ.ภูเก็ต และจังหวัดชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย และทำให้เกิดคลื่นสึนามิตามมา ในมหาสมุทรอินเดีย ซัดเข้าชายฝั่ง 14 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ศรีลังกา มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย กระทบ 6 จังหวัดภาคใต้ คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล โดยประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 ราย บาดเจ็บกว่า 8,000 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก บ้านเรือนประชาชน โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ทรัพย์สินส่วนตัวของนักท่องเที่ยว ยานพาหนะ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน เสียหายรวมมูลค่าหลายพันล้านบาท

ผลกระทบจากสึนามิ
แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ สิ่งแวดล้อม และสังคม
ด้านสิ่งแวดล้อม
1. ทำให้แผ่นเปลือกโลกขยับ ค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์คลาดเคลื่อนไป
2. ส่งผลให้สภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
3. ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เช่น สัตว์น้ำบางประเภทเปลี่ยนที่อยู่อาศัย หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ด้านสังคม
1. สูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน เช่น บ้านเรือนเสียหาย ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลาย
2. กระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน เช่น การทำประมง การค้าขายบริเวณชายหาด ธุรกิจที่พักริมทะเล
3. ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง

เผยแพร่ : ณภัทร โพธิ์อยู่ (เจ้าหน้าที่บริหารจัดการเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety

แหล่งที่มา
http://ndwc.disaster.go.th/cmsdetail.ndwc-9.283/26661/menu_7525/4214.1/รู้จักภัยจาก+สึนามิ
https://www.scimath.org/lesson-physics/item/7288-tsunami

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AA%E0%B8%B6%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B4-%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99
Hits 10,430 ครั้ง