สุขภาพ : 6 ปัจจัยกระตุ้นหัวใจวายที่คุณอาจไม่รู้

วันที่เผยแพร่: 
Wed 6 March 2019

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การสูบบุหรี่ โรคอ้วน และการออกกำลังกายไม่เพียงพออาจทำให้คุณมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายได้มากขึ้น แต่คุณรู้หรือไม่ว่ายังมีปัจจัยอื่นที่คุณอาจไม่ทราบว่าสามารถกระตุ้นให้หัวใจวายได้ และการมองข้ามปัจจัยเหล่านี้ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดคือกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก และนี่คือปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคนี้ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจมองข้าม

1. ไม่ใช้ไหมขัดฟัน

หัวใจจะขอบคุณเวลาที่คุณใช้ไหมขัดฟัน
ฟันและหัวใจของเรามีความเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด

งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า คนที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากมักมีอัตราการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนปกติ

อาการเลือดออกที่เหงือกและเหงือกอักเสบอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียในช่องปากเข้าสู่กระแสเลือดได้ และอาจทำให้เกิดคราบไขมันในหลอดเลือดแดง

ละเลยสัญญาณ "หัวใจล้มเหลว" เสี่ยงเสียชีวิต
น้ำลายเห็บช่วยป้องกันหัวใจวายได้
ยาแก้ปวดอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
นอกจากนี้ ยังอาจกระตุ้นให้ตับผลิตโปรตีนบางชนิดขึ้นในระดับสูง ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบขึ้น อันจะนำไปสู่อาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก

การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ทำได้โดยการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ และพบทันตแพทย์ตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม

2. การเกลียดหัวหน้างาน

งานวิจัยจากสวีเดนชี้ว่า คนที่มีภาวะเครียดในที่ทำงานเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นี่ไม่ใช่เรื่องตลก แต่ความรู้สึกชิงชังเจ้านายอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจของคุณได้

งานวิจัยจากสวีเดนที่ทำการศึกษาเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ British Medical Journal พบว่าการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับหัวหน้างานอาจเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะหัวใจวายได้ถึง 40%

"ความเครียดในที่ทำงานอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจวายได้" นพ.วีเจย์ กุมาร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจากสถาบันสุขภาพหัวใจในเมืองออร์แลนโดของสหรัฐฯ กล่าว

ความเครียดในที่ทำงานประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การนอนหลับไม่เพียงพอ และการทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจขึ้นไปอีก

3. เหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลทางจิตใจ

เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงกะทันหัน อาจสร้างความเสียหายให้หัวใจคุณได้
เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงกะทันหัน เช่น การเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัวอาจสร้างความเสียหายให้หัวใจคุณได้จริง ๆ

ข้อมูลจากสมาคมวัยหมดประจำเดือนแห่งอเมริการะบุว่า เส้นเลือดของผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง 3 ครั้งในชีวิตหรือมากกว่านั้น มีประสิทธิภาพการทำงานที่ย่ำแย่กว่าผู้หญิงที่ไม่เคยประสบเหตุแบบเดียวกัน

พญ.แจ็คกี ยูบานี แพทย์โรคหัวใจ ระบุว่า ภาวะเครียดสูงสามารถกระตุ้นให้ร่างกายผลิตอะดรีนาลีนมากผิดปกติ ซึ่งจะไปเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่ม ภาวะความดันโลหิตสูง

4. ความรู้สึกเหงา

ความเหงาอาจส่งผลร้ายต่อหัวใจคุณ
งานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ British Medical Journal พบหลักฐานบ่งชี้ว่า คนที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมน้อยมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 29% และมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเพิ่มขึ้น 32%

ที่เป็นเช่นนี้เพราะความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายสามารถกระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ และคนที่รู้สึกเหงามักไม่ค่อยมีใครคอยปรับทุกข์และระบายความรู้สึกต่าง ๆ

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2014 ได้ทำการวิเคราะห์ผู้หญิงกว่า 700,000 คนในช่วงเวลา 8 ปี และพบว่าคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับคู่รักมีความเสี่ยงน้อยลง 28% ที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดเมื่อเทียบกับผู้หญิงโสดที่ใช้ชีวิตตามลำพัง

5. โรคซึมเศร้า

33% ของผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจวายในสหรัฐฯ อาจเป็นผู้ที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย
สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ระบุว่า 33% ของผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจวายในสหรัฐฯ อาจเป็นผู้ที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอาจถูกถาโถมด้วยอารมณ์ต่าง ๆ จนยากที่จะตัดสินใจในเรื่องสุขภาพของตนเอง

ดร.นีกา โกลด์เบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์โจน เอช ทิช เพื่อสุขภาพสตรี ในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักไม่สามารถควบคุมตัวเองให้มีพฤติกรรมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพได้ เช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

"คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายมักหันไปหาสิ่งที่ช่วยทำให้สบายใจ โดยที่ไม่คำนึงว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพหรือไม่" ดร.โกลด์เบิร์ก กล่าว

6. วัยทอง

ฮอร์โมนเอสโตรเจนตามธรรมชาติในร่างกายที่ลดลงของผู้หญิงวัยทอง ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดภาวะหัวใจวาย
ผู้หญิงมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดภาวะหัวใจวายเมื่อเข้าสู่วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ภาวะเช่นนี้อาจเกี่ยวโยงกับการที่ผู้หญิงกลุ่มนี้มีฮอร์โมนเอสโตรเจนตามธรรมชาติในร่างกายลดลง

เชื่อกันว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลดีต่อผนังหลอดเลือดแดง และช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น

พญ.ยูบานี เสริมว่า อายุที่มากขึ้นทำให้หลอดเลือดแข็งขึ้น และมีความยืดหยุ่นน้อยลง ซึ่งจะไปเพิ่มระดับความดันในหลอดเลือด

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยต้านทานภาวะเหล่านี้ได้

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E-6-%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89
Hits 332 ครั้ง