อะไร คือ ความลับที่ทำให้ค้างคาวทนทานต่อโรคระบาด ?

วันที่เผยแพร่: 
Fri 5 February 2021

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ไม่ว่าใครจะไปไหนมาไหน หรือดูข่าวเมื่อใดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ โคโรนาไวรัส ที่มีแต่ผู้คนพูดถึงและเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น และถ้าใครได้ติดตามข่าวสารถึงต้นเหตุที่มาของเชื้อโคโรนาที่ระบาดในครั้งนี้ก็ต้องพูดว่า ค้างคาว อีกแล้วหรือนี่ เพราะเชื้อไวรัสที่ระบาดและรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็จะพบสาเหตุว่าล้วนมาจาก ค้างคาวทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรค SARS ที่ระบาดในปี ค.ศ. 2003 และ MERS ที่ระบาดที่ซาอุดิอาระเบีย ในปี ค.ศ. 2012 หรือแม้กระทั่ง ไวรัส Ebola ที่ถูกยกเป็นไวรัสที่มีความรุนแรงระดับต้นๆ ก็เจอในค้างคาวได้เช่นกัน

เมื่อเห็นข้อมูลด้านบนแล้วก็มักจะมีคำถามตามมาว่า แล้วค้างคาวที่เป็นพาหะนำโรคที่ร้ายแรงนี้ ทำไมตัวมันถึงไม่เป็นอะไรเลย วันนี้เราจะไปดูกันว่าอะไรที่เป็นสาเหตุหรือ ปัจจัยที่ทำให้ ค้างคาวนั้นสามารถต้านทานการเจ็บป่วยจากเชื้อโรคหลายๆชนิดได้

ซึ่งนักวิจัยจาก Duke-NUS Medical school ประเทศสิงคโปร์ได้ทำการวิจัยและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ของ Nature Microbiology บอกถึงสาเหตุที่ทำให้ค้างคาวไม่มีอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสต่างๆ ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นนำถึงรูปแบบหรือวิธีการในการสู้กับเชื้อโรคของร่างกายสิ่งมีชีวิต เมื่อมีการติดเชื้อจุลินทรีย์ ก็จะเกิดการอักเสบขึ้นของร่างกาย เช่น การมีไข้ การบวมแดง การมีหนอง ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรคงอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดผลต่างๆต่อร่างกายและทำให้เรามีอาการป่วยตามมา ถ้าเป็นเชื้อไวรัส เช่น โคโรนา ก็จะมีอาการแทรกซ้อนที่ปอดในรายที่รุนแรง แต่ถ้าใครที่มีร่างกายแข็งแรง ร่างกายจะค่อยๆกำจัดเชื้อให้หมดจนหายได้ในที่สุด

ทางทีมวิจัยได้กล่าวว่า จุดสำคัญที่ทำให้ค้างคาวไม่เป็นอะไรเลย คือ ค้างคาวไม่มีการอักเสบหลังจากการติดเชื้อไวรัส เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ซึ่งทำให้ค้างคาวนั้นไม่เกิดอาการเจ็บป่วยนั่นเอง และทางทีมวิจัยได้กล่าวเสริมต่ออีกว่า มีโปรตีนชนิดหนึ่ง ชื่อว่า NLRP3 ซึ่งปกติจะเป็นโปรตีนที่กระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ซึ่งพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทางทีมวิจัยได้ลองทดสอบการกระตุ้นโปรตีนตัวนี้ด้วยการทดลองเปรียบเทียบกันระหว่าง ค้างคาว หนู และคน โดยพบว่าค้างคาว มีโปรตีน NLRP3 ที่เป็นแบบเฉพาะไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นๆ และเมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัส จะเกิดการกระตุ้นโปรตีนชนิดนี้น้อยมากในค้างคาว เมื่อเทียบกับหนูหรือคน (ในการทดลองนี้ใช้ไวรัส 3 ชนิด คือ Influenza A virus, MERS corona virus, Melaka virus) ซึ่งการกระตุ้นโปรตีนชนิดนี้น้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค้างคาวเป็นสัตว์ที่ไม่ป่วยจากไวรัสต่างๆ แต่แน่นอนว่ากลไกต่างๆที่ทำให้ค้างคาวไม่ป่วยจากเชื้อไวรัสก็ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และยังคงต้อง ศึกษา วิจัยเพิ่มเติม ถึงสาเหตุอื่นๆอีกด้วย เผื่อไม่แน่ในอนาคต เราอาจจะนำความสามารถเหล่านี้ในค้างคาวมาพัฒนาเป็นเครื่องมือในการป้องกันการเกิดโรคระบาดในอนาคตได้

แม้ค้างคาวจะเป็นแหล่งกักตุนของโรคระบาด แต่ค้างคาวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุล จึงไม่อยากควรโทษค้างคาวแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสาเหตุที่แท้จริงนั้น น่าจะเกิดจากมนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้เข้าไปรุกรานชีวิตของสัตว์เหล่านี้ก่อน แน่นอนว่าการหยุดการล่าและขายสัตว์ป่า สามารถช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสในอนาคตได้

ที่มาของแหล่งข้อมูล:
https://www.nsm.or.th/other-service/1757-online-science/knowledge-invent...
1. Duke-NUS Medical School. "The secret to bats' immunity."ScienceDaily. 26 February 2019. แหล่งที่มา : www.sciencedaily.com/releases/2019/02/190226112401.htm
2. Programme in Emerging Infectious Diseases, Duke–NUS Medical School, Singapore, Singapore.Dampened NLRP3-mediated inflammation in bats and implications for a special viral reservoir host. Nature Microbiology, 25 February 2019. แหล่งที่มา : https://www.nature.com/articles/s41564-019-0371-3

ค้นคว้าเพิ่มเติม : https://www.nature.com/nmicrobiol/#search-menu

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%94
Hits 364 ครั้ง