อินเดียตรวจพบไวรัสโคโรนาชนิดใหม่กลายพันธุ์ 2 ตำแหน่ง

วันที่เผยแพร่: 
Tue 20 April 2021

ประเทศอินเดียกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตของโรคโควิด 19 (COVID-19) อย่างหนัก ด้วยยอดผู้ติดเชื้อใหม่ จำนวน 47,262 คน ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 11.7 ล้านคน สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกาและบราซิล และมีผู้เสียชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมง จำนวน 275 คน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 160,441 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2564) ล่าสุดประเทศอินเดียตรวจพบการกลายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เกิดการกลายพันธุ์คู่ (Double mutant) สร้างความกังวลให้กับผู้คนทั่วโลกว่าไวรัสกลายพันธุ์แบบใหม่นี้จะติดต่อได้ง่ายขึ้น หรืออาจทำให้วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 มีประสิทธิภาพลดลงหรือไม่

จากการตรวจหาลำดับทางพันธุกรรมของกลุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 จำนวน 10,787 คน ใน 18 รัฐทั่วประเทศอินเดีย พบว่า ในจำนวน 771 ตัวอย่างนั้น เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในอังกฤษ 736 คน ตามด้วยไวรัสกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ 34 คน และไวรัสกลายพันธุ์จากบราซิล 1 คน และยังพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เกิดการกลายพันธุ์คู่ ในกลุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อมากกว่า 200 คน โดยเฉพาะในรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด 19 รุนแรงที่สุด กลุ่มศึกษาจีโนมเชื้อโรคโควิด-19 แห่งอินเดีย (Indian SARS-CoV-2 Consortium on Genomics: INSACOG) ซึ่งเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการระดับชาติ 10 แห่ง ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอินเดีย ได้ศึกษาลำดับจีโนมหรือแผนที่รหัสพันธุกรรมทั้งหมดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) พบว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดการกลายพันธุ์คู่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงลำดับพันธุกรรม 2 ตำแหน่ง ในรหัสพันธุกรรมของไวรัสอนุภาคเดียวกัน ได้แก่ ตำแหน่ง E484Q จากกรดอะมิโนที่ชื่อ กรดกลูตามิก (Glutamic acid : E) ไปเป็น กลูตามีน (Glutamine : Q) ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญที่สไปค์โปรตีน (Spike protein) จะถูกแอนติบอดีในระบบภูมิคุ้มกันมาจับได้ และตำแหน่ง L452R ที่เปลี่ยนแปลงจากกรดอะมิโนลิวซีน (Leucine : L) ไปเป็น อาร์จินีน (Arginine : R) โดย ดร.ชาฮิด จามีล (Shahid Jameel) นักไวรัสวิทยา อธิบายว่า “การกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่ง บนสไปค์โปรตีน ของไวรัส ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ อาจทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และอาจมีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แยกต่างหากที่ระบาดในประเทศอินเดีย โดยมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง L452R และตำแหน่ง E484Q มารวมกัน”

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขอินเดียยังระบุในแถลงการณ์ว่า "การกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ทำให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้" ทั้งนี้ ทางการอินเดียระบุว่า เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่นี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอัตราการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นของอินเดียแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียได้ออกคำสั่งระงับการส่งออกวัคซีนโควิด 19 ของแอสตราเซเนกาเป็นการชั่วคราว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในประเทศ ที่อาจทำให้ความต้องการวัคซีนเพิ่มตามไปด้วย จึงต้องเก็บวัคซีนไว้ใช้ในประเทศก่อน โดยคาดว่าจะบังคับใช้มาตรการถึงสิ้นเดือนเมษายน

การกลายพันธุ์ในเชื้อไวรัสเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อ หรือทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง แต่การกลายพันธุ์บางอย่าง เช่นในสายพันธุ์ที่พบในอังกฤษ หรือในแอฟริกาใต้ สามารถทำให้ไวรัสติดต่อได้ง่ายขึ้น และในบางกรณีก็มีอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโดยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่างทางสังคม สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อโรคโควิด 19 และปกป้องเราจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกิดกลายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรียบเรียงโดย ชนินทร์ สาริกภูติ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

ที่มาข้อมูล :
Coronavirus: 'Double mutant' Covid variant found in India. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.bbc.com/news/world-asia-india-56507988 [26 มีนาคม 2564]
New coronavirus variant, described as 'double mutant', reported in India. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.theguardian.com/world/2021/mar/25/new-coronavirus-variant-de... [26 มีนาคม 2564]
Genome Sequencing by INSACOG shows variants of concern and a Novel variant in India. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://pib.gov.in/PressReleaseIframePage.aspx?PRID=1707177 [26 มีนาคม 2564]

ที่มา https://www.nsm.or.th/other-service/664-online-science/knowledge-invento...

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C-2-%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%87
Hits 522 ครั้ง