เคยสังเกตจุกเล็กๆเหนือผล “สับปะรด”กันไหม ส่วนนี้สามารถนำไปปลูกต่อได้นะ!

วันที่เผยแพร่: 
Wed 5 May 2021

หลายคนคงรู้จักผลสับปะรดที่เราทานกันเป็นอย่างดี ด้วยรูปร่างที่แปลกสะดุดตา รสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อฉ่ำ ทานแล้วรู้สึกสดชื่น สับปะรดจึงเรียกได้ว่าเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งแห่งเมืองร้อน แต่จะมีใครบ้าง? ที่เคยเห็นผลของต้นสับปะรดแบบเต็มๆต้น นอกจากนี้แล้ว...ยังสังเกตได้อีกไหมว่า “จุก” เหนือผลของสับปะรดที่หน้าตาเหมือนมงกุฎเล็กๆนั้น ก็สามารถกลายเป็นสับปะรดต้นใหญ่ได้อีกต้นหนึ่งเช่นกัน ขั้นตอนการทำให้มงกุฎเล็กๆนี้เติบโตเป็นลำต้นที่ให้ผลได้นี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “การขยายพันธุ์พืช” นั่นเอง

เนื่องจากสับปะรดนั้น จัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดีแม้จะมีน้ำน้อย เหมาะสำหรับประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน มักจะนิยมปลูกในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และมีสภาพภูมิประเทศที่อยู่ใกล้ทะเล เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง และจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย เช่น พันธุ์ปัตตาเวีย พันธุ์อินทรชิต พันธุ์ขาว พันธุ์ภูเก็ต พันธุ์นางแล เป็นต้น

เนื่องจากสับปะรดนั้น จัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดีแม้จะมีน้ำน้อย เหมาะสำหรับประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน มักจะนิยมปลูกในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และมีสภาพภูมิประเทศที่อยู่ใกล้ทะเล เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง และจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย เช่น พันธุ์ปัตตาเวีย พันธุ์อินทรชิต พันธุ์ขาว พันธุ์ภูเก็ต พันธุ์นางแล เป็นต้น สับปะรดที่เราทานกันนั้น มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งจัดเป็นพวก “ไม้ดิน” มีระบบราก และหาอาหารอยู่ในดิน ใบของสับปะรดมีเซลล์พิเศษสำหรับเก็บน้ำเอาไว้ในใบ จึงทำให้ทนทานในภูมิประเทศที่มีความแห้งแล้งได้ดี ทั้งนี้ สับปะรดนั้นสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกแห่งในประเทศไทยก็ว่าได้ (ซึ่งจะให้ผลโต หวาน เปรี้ยว หรืออาจจะไม่ออกผลเลย ก็ต้องดูที่ลักษณะของสภาพภูมิประเทศด้วย)

เราสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ของสับปะรดในการขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธี ซึ่งสับปะรดก็เป็นผลไม้ที่มีความพิเศษตรงที่สามารถใช้ “จุก” มาปลูกต่อไปได้ด้วย แทนที่จะเป็นเมล็ด หรือกิ่งก้าน นับว่าเป็นความหลากหลายทางพฤษศาสตร์ที่น่าสนใจทีเดียว ซึ่งจะน่าสนุกมาก หากได้ทดลองปลูกสับปะรดจาก “จุก” ที่ว่านี้ด้วยตนเอง

ขั้นตอนนั้นก็ไม่ยุ่งยากเลย เพียงแค่คัดเลือกสัปปะรดลูกใหญ่ที่มี “จุก” เหนือผลสับปะรด ยาวประมาณ 50-75 ซม. (หรือความยาวอาจจะน้อยกว่า 50 ซม.แต่มีน้ำหนักประมาณ 200 กรัมก็ถือว่าใช้ได้) ลอกกาบใบล่างออก 3-4 ชั้น เพื่อให้รากแทงออกมาได้สะดวกขึ้น จากนั้นก็เสียบไม้จิ้มฟันรอบๆ 2-3 อัน แล้วเอาส่วนล่างแช่ไว้ในน้ำ และเปลี่ยนน้ำทุกๆวัน เมื่อเริ่มมีรากออกมาก็นำ “จุก” นั้นมาใส่กระถางแล้วใส่ดินลงไป นำไปวางกลางแจ้งหรือวางในที่แสงแดดส่องถึงเกือบทั้งวัน โดยที่ไม่ต้องรดน้ำบ่อยนัก เพียงเท่านี้เจ้า “จุก” สับปะรด ก็จะกลายเป็นสับปะรดต้นใหญ่ได้ในระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ด้วยกัน

การปลูกสับปะรดด้วยจุกนั้นใช้พื้นที่น้อยและง่ายดายก็จริง แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่เกษตรกรนิยมใช้กัน เพราะว่า การใช้จุก จะทำให้ผลของต้นใหม่ที่ออกมานั้นไม่ได้ตามมาตรฐานที่ต้องการและไม่ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศเท่าการปลูกด้วย “หน่อ” ซึ่งมี 2 แบบ คือ

ขยายพันธุ์ด้วยหน่อดิน เกิดจากตาที่อยู่ในบริเวณลำต้นใต้ดิน ซึ่งจะเริ่มแทงขึ้นมาพ้นผิวดิน หลังจากเกิดการสร้างดอกแล้ว มีจำนวนน้อย รูปทรงเล็กเรียว ใบยาวกว่าหน่อข้าง

ขยายพันธุ์ด้วยหน่อข้าง เกิดจากตาที่พักตัวอยู่บนลำต้นในบริเวณโคนใบ หน่อข้างเหล่านี้ใช้ขยายพันธุ์ได้ดี เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมใช้ในการขยายพันธุ์ในการทำไร่สับปะรด

ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยจุก โดยธรรมชาติ มงกุฎเล็กๆที่เป็น “จุก” จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เหนือผลสับปะรดหลังจากการออกดอกของสับปะรด (สับปะรดจะออกดอกเล็กๆบริเวณตาสับปะรด) และถ้าเราปล่อยให้จุกนี้เจริญเติบโตไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับผลสับปะรดที่สุกงอม ผลและจุก ก็จะหลุดออกจากต้นเดิม แล้วงอกรากออกมากลายเป็นต้นใหม่ได้

แถมท้ายให้อีกนิดสำหรับใครที่มีความชื่นชอบในทางพฤษศาสตร์ และอยากหาข้อมูลเกี่ยวกับ “สับปะรด” ให้มากกว่านี้ โดยสับปะรด (Pineapple) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ananas comosus (L.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ BROMELIACEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย BROMELIOIDEAE นั่นเอง

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-biology/item/11491-2020-04-21-08-14-03

กรมพัฒนาที่ดิน. การปลูกสับปะรด. สืบค้นเมื่อวันที่ 01/04/2563 จาก. http://mordin.ldd.go.th/nana/web-ldd/Plant/Page09.html

วิชาเกษตร ปลูกผัก ทำไร่ ไถนา. วิธีปลูกสับปะรด. สืบค้นเมื่อวันที่ 01/04/2563 จาก https://www.vichakaset.com/วิธีปลูกสับปะรด

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%86%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9C%E0%B8%A5-%E2%80%9C%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%94%E2%80%9D%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1-%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%B0
Hits 435 ครั้ง