เปิดประวัติ "เรือหลวงช้าง"

วันที่เผยแพร่: 
Mon 18 November 2024
 เปิดประวัติ – เรือหลวงช้าง 
บทบาทสำคัญของเรือหลวงช้าง

เรือหลวงของไทยได้มีบทบาทในการป้องกันประเทศครั้งสำคัญในเหตุการณ์ “การรบยุทธนาวีเกาะช้าง” บริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด ซึ่งการรบเกิดจากกรณีพิพาทที่ไทยเรียกร้องให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักความยุติธรรม โดยในเหตุการณ์ครั้งนั้น เรือหลวงธนบุรีได้เข้าช่วยเหลือเรือหลวงอีก 2 ลำที่ประจำการรบอยู่ และได้ยิงตอบโต้กับเรือรบของฝรั่งเศสและสร้างความเสียหายให้แก่เรือรบของฝรั่งเศสเป็นอย่างมากจนกองเรือรบของฝรั่งเศสส่งสัญญาณถอนตัวจากการรบ

ประวัติศาสตร์เรือหลวงช้าง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำนี้ว่า “เรือหลวงช้าง” ชื่อภาษาอังกฤษคือ “H.T.M.S. CHANG” ซึ่งตั้งตามชื่อของหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือที่กำหนดเกณฑ์การตั้งชื่อเรือเรือหลวงของไทยให้เรือยกพลขึ้นบกตั้งชื่อตามชื่อเกาะ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือได้เคยมีเรือหลวงช้างมาแล้ว 2 ลำ โดยเรือหลวงช้างลำใหม่นี้เป็นเรือหลวงช้างลำที่ 3 ของกองทัพเรือไทย สำหรับเรือหลวงช้างลำแรกเข้าประจำการระหว่าง พ.ศ. 2445-2505 โดยในการรบยุทธนาวีเกาะช้าง จังหวัดตราดได้เป็นเรือที่ช่วยลากเรือหลวงธนบุรีที่ถูกไฟไหม้จากการรบเข้าเกยตื้น ส่วนเรือหลวงช้างลำที่ 2 ถูกสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ขายให้แก่กองทัพเรือไทยและเปลี่ยนชื่อเป็นเรือหลวงช้างแล้วเข้าประจำการในกองทัพเรือเป็นเวลา 50 ปีจึงถูกปลดระวาง และเมื่อปี 2555 ได้ถูกจมลงที่เกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อทำเป็นแนวปะการังเทียม

ลักษณะของเรือหลวงช้าง

ขนาดของเรือหลวงช้าง 792 มีขนาดความยาว 213 เมตร กว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 6.8 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 25,000 ตัน ทำความเร็วสูงสุดได้ 25 นอต นั่นหมายถึงว่าใน 1,500 ไมล์ของทะเลไทย เรือหลวงช้างจะสามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยไกลสุดคือ 1,500 ไมล์ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 วันกว่า หรือเดินทางจากสัตหีบถึงเกาะสมุย (200 ไมล์) ใช้เวลาเดินทางเพียง 8 ชั่วโมง และเรือหลวงช้างสามารถปฏิบัติการในทะเลได้ต่อเนื่องที่ไม่น้อยกว่า 45 วัน หรือที่ระยะทาง 8,000 ไมล์ ที่ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต และมีความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย สามารถบรรทุกกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ได้ประมาณ 650 คน ปัจจุบันมีกำลังพลประจำเรือ 196 นาย หากต้องปฏิบัติการอพยพประชาชนสามารถใช้พื้นที่ในดาดฟ้าบรรทุกรถ จัดพื้นที่รับผู้ประสบภัยได้เพิ่มเติมอีกกว่า 200 คน ทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เพิ่มขึ้น แต่เรือหลวงช้าง สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ไม่น้อยกว่า 800 คน ซึ่งรองรับจำนวนได้มากกว่าเรือหลวงอ่างทอง

นอกจากนั้นแล้ว เรือหลวงช้าง มีความคงทนทะเลอยู่ที่ Sea State 9 คือ คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร แต่การปฏิบัติภารกิจในสภาวะ Sea State 9 ต้องพิจารณาความปลอดภัย ในการปฏิบัติการซึ่งมีข้อจำกัดของการปฏิบัติการของอากาศยาน และเรือเล็ก ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้เกิดพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ พายุแฮเรียต ในปี 2505 (Sea State 8) พายุโซนร้อนกำลังแรงลินดา ในปี 2540 (Sea State 9) พายุโซนร้อนปลาปึก ในปี 2562 (Sea State 8) โดยพายุที่รุนแรงที่สุดได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี 2532 มี Sea State 9 คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร

 

ขีดความสามารถของเรือหลวงช้าง

1. ขีดความสามารถในการบรรทุก

สามารถบรรทุกรถสะเทินน้ำสะเทินบก ได้ 56 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 20 คัน เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) 6 ลำ หรือเรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) 9 ลำ หรือยานเบาะอากาศ (LCAC) จำนวน 2 ลำ จะเห็นได้ว่า เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุกรถยนต์ประเภทต่างๆ รวมทั้ง เรือระบายพล เรือเล็ก ซึ่งจากขีดความสามารถเหล่านี้ ทำให้พิจารณาการลำเลียงยานพาหนะที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้หลากหลาย รวมทั้งดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ที่กองทัพเรือมีได้ทุกแบบ

2. ขีดความสามารถทางการแพทย์

เรือหลวงช้างมีห้องปฏิบัติการแพทย์ จำนวน 11 ห้อง เป็นห้องผู้ป่วย 3 ห้อง ส่วนรักษา 8 ห้อง (ห้อง X-ray ห้องทันตกรรม ห้องศัลยกรรม ห้องตรวจโรค ห้องยา ห้อง LAB ห้องฆ่าเชื้อ และห้องผ่าตัด) ซึ่งสามารถรองรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับ 2 บนเรือได้

 

เรือหลวงช้าง (H.T.M.S. CHANG) หมายเลขเรือ 792 เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกลำที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทยในขณะนี้ เรือหลวงช้างเข้าประจำการตามแนวทางการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือเพื่อรองรับบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเรือในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาผลประโยชน์และเส้นทางคมนาคมของชาติทางทะเล โดยการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ ตลอดจนช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ทั้งในทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน

 

เผยแพร่ : ณาดาร์ หมื่นชล
(เจ้าหน้าที่พัฒนาและบริหารจัดการสารสนเทศ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
Tiktok : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society

แหล่งที่มา
thairath

เจ้าของข้อมูล: 
กองทัพเรือ
Hits 1,037 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: 
คำสำคัญ: