เหตุผลที่คนกลัวความสูง

วันที่เผยแพร่: 
Mon 26 April 2021

ความกลัวเป็นอารมณ์ทั่วไปของมนุษย์ที่เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นภัยคุกคามทั้งร่างกายและจิตใจ และเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์จากภัยหรืออันตรายเหล่านั้น แต่สำหรับบางคน ความรู้สึกกลัวที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และไม่สมเหตุสมผลเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง

โรคกลัวความสูงคืออะไร?

แม้จะมีคนประมาณหนึ่งในสามที่ประสบกับความกลัว ความวิตกกังวลและไม่สบายใจเมื่อต้องเผชิญกับความสูง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการของโรคกลัวความสูง (Acrophobia) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของโรคกลัว (Phobia) ที่เป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะมีอาการกลัวเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งของหรือสถานการณ์ที่ผู้ป่วยกลัว หลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัว พร้อมกันนั้นยังเกิดอาการวิงเวียน ใจสั่น หายใจลำบาก และอาจหมดสติ ร่วมด้วย

ความกลัว (Fear) เป็นการตอบสนองทางอารมณ์ต่อภัยคุกคามที่รับรู้ได้ว่าเป็นอันตราย ในขณะที่โรคกลัว (Phobia) มีลักษณะคล้ายกับความกลัว แต่มีความแตกต่างตรงที่ความกลัวและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้น สามารถรบกวนคุณภาพชีวิต และความสามารถในการทำงานได้ อย่างไรก็ดี โรคกลัวความสูง เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยกลัวสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสูง หรือการต้องอยู่ห่างจากพื้นดิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคกลัว เนื่องด้วยบางคนอาจมีความกลัวที่จะต้องอยู่บนอาคารสูงมากพอๆ กับการปีนบันได

ผู้ที่เป็นโรคกลัวความสูง มักจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องอยู่กับความสูง แต่การหลีกเลี่ยงนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอไป เมื่อต้องเผชิญกับความสูง ระบบประสาทจะถูกกระตุ้นให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ความตื่นตัว (arousal) จะนำไปสู่การตอบโต้ที่เรียกว่า การตอบสนองแบบสู้หรือหนี ( fight-or-flight response) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าเป็นอันตราย เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย หรือเสี่ยงต่อความสูญเสียชีวิต ผู้ป่วยโรคกลัวความสูงจะมีอาการวิงเวียน มีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ เหงื่อออก วิตกกังวล ตัวสั่น และอาจมีอาการคลื่นไส้และปวดท้อง

การเรียนรู้ต่อการกลัวความสูง

สำหรับการเรียนรู้เชิงพฤติกรรม นักพฤติกรรมนิยม (Behaviourist) ส่วนใหญ่ทำการศึกษาความกลัวและโรคกลัวความสูง โดยใช้ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (classical conditioning) และเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่ทฤษฎีดังกล่าวอธิบาย ให้ลองพิจารณาถึงการปีนต้นไม้ครั้งแรก ซึ่งตามมุมมองของนักพฤติกรรมนิยม คนที่ปีนต้นไม้ครั้งแรกจะไม่มีความกลัว
แต่หากว่าคุณตกต้นไม้ นั่นจึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความกลัว

นักพฤติกรรมนิยมคาดการณ์ว่า ด้วยประสบการณ์การขึ้นที่สูงและได้รับบาดเจ็บจากการตกจากที่สูง เป็นผลให้เกิดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงเหตุการณ์เชิงลบที่เกี่ยวข้องกับความสูง จะมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้คนกลัวความสูงได้ อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ในกลุ่มพฤติกรรม พบปัญหาบางอย่างซึ่งยากต่อการอธิบายถึงสาเหตุของคนเป็นโรคกลัวที่ไม่เคยประสบสถานการณ์ที่ทำให้กลัว แต่เกิดอาการกลัวอย่างรุนแรงได้ ซึ่งคำอธิบายที่ดีที่สุดอาจหมายถึงเหตุผลในเรื่องของการผสมผสานระหว่างพฤติกรรมและมุมมองเชิงวิวัฒนาการ แต่ถึงอย่างนั้น โรคกลัวความสูงสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการลงได้ เช่น การใช้จิตบำบัด การบำบัดด้วยการสัมผัส (Exposure therapy) การใช้ยา เป็นต้น

นอกจากนี้การผ่อนคลายด้วยการทำโยคะ หายใจลึก ๆ ทำสมาธิ หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อยังเป็นวิธีการที่สามารถช่วยในการรับมือกับความเครียดและความวิตกกังวลจากอาการของโรคกลัวความสูงได้ และการออกกำลังกายเป็นประจำก็เป็นอีกวิธีการง่ายๆ ที่ช่วยบำบัดและบรรเทาความเครียดจากอาการกลัวได้เช่นกัน

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-biology/item/11647-2020-06-30-03-41-37

Rebekah Boynton and Anne Swinbourne, (2017, October 16), Health Check: why are some people afraid of heights? Retrieved June 26, 2020, from https://theconversation.com/health-check-why-are-some-people-afraid-of-h...

Lisa Fritscher,(2020,June 25), Symptoms, Causes, and Treatment of Acrophobia. Retrieved June 26, 2020, from https://www.verywellmind.com/acrophobia-fear-of-heights-2671677

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87
Hits 2,255 ครั้ง