Alzheimer

โรคอัลไซเมอร์ Alzheimer

ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร

                สมองเสื่อม เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอยบกพร่องในด้านการรู้คิด ได้แก่ ความจำ การตัดสินใจ การวางแผน และบริหารจัดการ การรับรู้รูปทรง และการกะระยะ การใช้ภาษา สมาธิ หรือ ความใส่ใจ ความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว โดยมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม แต่ต้องไม่มีภาวะเพ้อ โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชเรื้อรัง หรือ วิตกกังวลรุนแรงขณะวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมอาศัยข้อมูลจากประวัติทั้งจากผู้ป่วยและญาติที่อยู่ใกล้ชิดรู้จักผู้ป่วยเป็นอย่างดี การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการตรวจทางประสาทจิตวิทยา

                สมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว โรคขาดฮาร์โมนต่อมไทรอยด์ โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ชิฟิลิสและเอดส์ เป็นต้น ปัจจบันพบโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด

โรคอัลไซเมอร์คืออะไร

                โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ พบความชุกร้อยละ 10-15 ในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี และพบร้อยละ 20-30 ในประชากรที่อายุมากว่า 80 ปี

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์

                โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมองจนบางส่วนของสมองทำหน้าที่ลดลง เกิดการฝ่อ ทำให้กระทบกับการทำงานของสมองส่วนนั้น และแสดงอาการต่าง ๆ ออกมา เช่น หลงลืม ถามซ้ำ ๆ ฯลฯ อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคอัลไซเมอร์ มีการศึกษาพบว่าในสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีการสะสมของโปรตีนบางชนิด เช่น อะไมลอยด์ (amyloid) และ ทาว (tau) มากกว่าปกติ

อาการของโรคอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร

                ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำเป็นอาการหลัก ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ จึงมักจะลืมว่าวางของไว้ที่ไหนทั้งที่พยายามจำ ถามซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ เป็นต้น

                เมื่อโรคดำเนินไปจะทำให้เกิดความบกพร่องของการรู้คิดด้านอื่นร่วมด้วย เช่น หลงทาง คิดเลขไม่ได้ ไม่สามารถจัดการกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้เอง มีปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาพฤติกรรม และความผิดปกติทางจิตตามมา เช่น หงุดหงิด เฉื่อยชาและเฉยเมย ขาดการยับยั้งชั่งใจ มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน เป็นต้น

เมื่อไหร่จึงต้องพบแพทย์

                เมื่อปัญหาด้านความจำที่เกิดขึ้นหรืออาการหลงลืมนั้น ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการจัดการชีวิตประจำวัน เช่น ทำได้ช้าลง ทำผิดบ่อยขึ้น หรืออาการหลงลืมนั้นส่งผลให้เกิดปัญหาในการจัดการชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เช่น ต้องการผู้ช่วยเหลือในการจ่ายเงิน ต้องการผู้ช่วยเหลือในการบริหารยาที่ทานประจำ เป็นต้น

แหลง่ที่มา : https://www.chulabhornhospital.com/page.php?name=589

ภาพ: