มาตรวัดความแข็งของโมห์ส (Mohs Hardness Scale)

มาตรวัดความแข็งของโมห์ส หรือ Mohs Hardness Scale เป็นมาตรวัดความแข็งของหินและแร่ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้รับการคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1812 โดยฟรีดริช โมห์ส (Friedrich Mohs) นักเหมืองแร่และนักธรณีวิทยาชาวเยอรมัน  โดยโมห์สใช้แร่มาตรฐานทั้งหมด 10 ชนิด เป็นตัวแทนของความแข็ง ตั้งแต่ระดับ 1-10 โดยไล่ระดับตั้งแต่ 1 ซึ่งมีความแข็งและทนต่อการขีดข่วนน้อยที่สุด ไปจนถึงระดับ 10 ซึ่งมีความแข็งและทนต่อการขีดข่วนมากที่สุด

รายละเอียดมาตรวัดความแข็งมองโมห์ส

ความแข็งระดับที่ 1                           แร่ทัลค์ (Talc)  

ความแข็งระดับที่ 2                           แร่ยิปซั่ม (Gypsum)

ความแข็งระดับที่ 3                           แร่แคลไซต์ (Calcite)

ความแข็งระดับที่ 4                           แร่ฟลูออไรต์ (Fluorite)           

ความแข็งระดับที่ 5                           แร่อพาไทต์ (Apatite)

ความแข็งระดับที่ 6                           แร่ออร์โทเคลส (Orthoclase)

ความแข็งระดับที่ 7                           แร่ควอตซ์ (Quartz)

ความแข็งระดับที่ 8                           แร่โทแพซ (Topaz)

ความแข็งระดับที่ 9                           แร่คอรันดัม (Corundum)

ความแข็งระดับที่ 10                         เพชร (Diamond)

นอกจากจะมีการใช้มาตรวัดความแข็งของโมห์สในการวัดความแข็งของแร่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังนำมาตรวัดความแข็งนี้มาใช้ในการระบุความแข็งของวัสดุต่าง ๆ มากมาย เช่น เล็บของมนุษย์มีระดับความแข็งอยู่ที่ประมาณ 2.5 และตะปูเหล็กมีระดับความแข็งอยู่ที่ประมาณ 6.5 เป็นต้น

ด้วยความรู้จากมาตรวัดความแข็งของโมห์ส ทำให้นักธรณีวิทยา สามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ ในการจัดจำแนกแร่ เช่น ใช้เล็บสร้างรอยขีดข่วนลงบนแร่ยิปซั่ม เพื่อแยกออกจากแร่แคลไซต์ นอกจากนี้ยังมีการนำความรู้ที่ได้จากมาตรวัดความแข็งของโมห์สมาใช้ในงานวิศวกรรม เช่น กระจกที่มีความแข็งอยู่ที่ประมาณ 5.5 จะต้องใช้คัตเตอร์ที่ทำจากเพชรตัดกระจก เพื่อให้ได้รอยตัดที่เรียบ ไม่สร้างความเสียหายกับกระจก เป็นต้น

วันที่: 
Wed 14 August 2024
แหล่งที่มา: 
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/15426
Hits 1,725 ครั้ง