กล้องเจมส์เว็บบ์เดินทางถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ

กล้องเจมส์เว็บบ์เดินทางถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ
:
หลังออกเดินทางจากโลกมาเป็นเวลา 30 วัน ในที่สุดกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) ก็ได้มาถึงจุดหมายปลายทางที่จุดสมดุลแรงโน้มถ่วง L2 หรือจุดลากรานจ์ที่สองซึ่งห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร ซึ่งจะเป็นตำแหน่งประจำการถาวร ที่กล้องจะใช้เฝ้าสังเกตการณ์ห้วงอวกาศลึกในภารกิจที่อาจยาวนานถึงกว่า 10 ปีแล้ว
:
ตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการจุดระเบิดเครื่องยนต์ขับดันเพื่อปรับแก้วิถีโคจรกลางทาง 3 ครั้ง และในที่สุดกล้อง JWST ก็เข้าสู่วงโคจรถาวรรอบจุด L2 ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เวลา 14.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออกของทวีปอเมริกา (EST) ซึ่งตรงกับเวลา 2.00 น. ของวันอังคารที่ 25 ม.ค. ตามเวลาในประเทศไทย
:
จุด L2 นั้นเป็นจุดสมดุลแรงโน้มถ่วงระหว่างโลก ดวงอาทิตย์ และวัตถุชิ้นที่สามซึ่งก็คือกล้อง JWST นั่นเอง ตำแหน่งนี้ทำให้กล้องสามารถโคจรอยู่ในห้วงอวกาศตรงได้อย่างมีเสถียรภาพและประหยัดพลังงาน ทั้งยังสังเกตห้วงอวกาศลึกได้ชัดเจนขึ้น เพราะ L2 เป็นตำแหน่งด้านข้างของโลกฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ทำให้โลกและดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลังของกล้อง ทั้งนี้เป็นเพราะกล้อง JWST เป็นกล้องตรวจจับรังสีอินฟราเรดที่ต้องรักษาระดับอุณหภูมิในการทำงานให้คงที่อยู่ในระดับต่ำมาก
:
ด้วยเหตุนี้กล้องจึงไม่สามารถหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์และสังเกตการณ์ด้านในของระบบสุริยะ ซึ่งก็คือดวงอาทิตย์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ และโลกได้ แต่สำหรับดาวอังคารและวัตถุอวกาศที่อยู่ถัดออกไปด้านนอกรวมทั้งห้วงอวกาศลึก กล้องจะสามารถมองเห็นในย่านรังสีอินฟราเรดได้ทั้งหมด
:
การที่กล้องต้องตรวจจับรังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนที่เบาบางและมีอุณหภูมิต่ำสุดขั้ว ซึ่งส่งมาจากวัตถุในห้วงอวกาศลึก กล้อง JWST จึงต้องใช้เวลานานเกือบ 100 วัน เพื่อรอให้กล้องเย็นตัวลงถึงระดับ -230 องศาเซลเซียส ก่อนจะเริ่มต้นทำงานได้
:
ส่วนสาเหตุที่ต้องรอให้เย็นตัวนาน ทั้งที่กล้องอยู่ในห้วงอวกาศที่เย็นยะเยือกอยู่แล้วนั้น เป็นเพราะการสูญเสียความร้อนของวัตถุในอวกาศต่างจากบนโลกซึ่งมีได้หลายวิธี ทั้งการนำความร้อน (conduction) และการพาความร้อน (convection) แต่ในอวกาศมีเพียงการแผ่รังสีความร้อน (radiation) เท่านั้น
:
#STKC

วันที่: 
Tue 8 February 2022
แหล่งที่มา: 
https://www.bbc.com/thai/international-60122419
Hits 400 ครั้ง