กินเผ็ด ดีหรือไม่?

ผลกระทบต่อสุขภาพจากการกินเผ็ด

แม้ความเผ็ดจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกัน การกินเผ็ดก็อาจมีโทษบางอย่างต่อร่างกายได้เช่นกัน โดยอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

ช่องปาก หลายคนอาจรู้สึกแสบร้อนภายในปากหลังจากกินอาหารเผ็ด โดยอาการแสบร้อนนี้ถือเป็นกลุ่มอาการแสบร้อนในช่องปาก ซึ่งอาจส่งผลต่อลิ้น เหงือก ริมฝีปาก แก้ม เพดานปาก และบริเวณอื่น ๆ ภายในช่องปากด้วย รวมทั้งอาจทำให้ปากแห้ง รู้สึกหิวน้ำ อาจสูญเสียการรับรส หรือทำให้ลิ้นรับรสชาติผิดเพี้ยนไปได้

ระบบทางเดินอาหาร สารแคปไซซินในพริกอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งในกรณีที่เกิดการอาเจียน กรดที่ไหลย้อนกลับมาจากกระเพาะอาหารอาจทำให้หลอดอาหารระคายเคืองได้ นอกจากนี้ การกินเผ็ดก็อาจส่งผลให้อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารเผ็ด เพื่อลดความเสี่ยงและช่วยไม่ให้โรคแผลในกระเพาะอาหารมีอาการรุนแรงขึ้น

ระบบทางเดินหายใจ การกินเผ็ดอาจเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้จมูกจากอาหาร ซึ่งเป็นโรคจมูกอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ แต่มีสาเหตุมาจากอาหารที่กิน โดยอาจทำให้มีอาการน้ำมูกไหลหรือมีเสมหะในคอหลังจากกินอาหารเผ็ด อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าสารแคปไซซินอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้มีอาการดีขึ้นได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของสารแคปไซซินที่มีต่อโรคนี้อย่างชัดเจนต่อไป

ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ การกินเผ็ดอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางทรวงอก นอกจากนี้ การกินเผ็ดอาจส่งผลให้อาการของโรคบางชนิดอย่างโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากอาหารเผ็ดอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้อาจมีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะด้วย อย่างไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการของโรคดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการเลือกกินอาหารอย่างเหมาะสม

ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการกินเผ็ด

แม้การกินเผ็ดจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายอย่าง แต่ก็ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของการกินเผ็ดว่าอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนี้

ช่วยให้อายุยืน จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่าการกินเผ็ดอย่างน้อยเพียงวันละครั้ง 6-7 วันต่อสัปดาห์ ช่วยให้อัตราการเสียชีวิตลดลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ทั้งวิธีการเก็บข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน และไม่มีข้อมูลของตัวแปรอื่น ๆ อย่างปริมาณและชนิดของอาหารที่กินของผู้รับการทดลองแต่ละคน ซึ่งอาจมีผลต่องานวิจัยชิ้นนี้ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อยืนยันผลลัพธ์ที่แน่ชัดเพิ่มเติม

ช่วยเร่งกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า พริกและเครื่องเทศบางชนิด อย่างยี่หร่า อบเชย ขมิ้น พริก และพริกไทย ต่างก็มีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย และยังช่วยให้รู้สึกหิวช้าลงด้วย ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงานวิจัยนี้เป็นการทดลองในสัตว์ และยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยทดลองในมนุษย์ เพื่อหาข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนต่อไป

ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย จากงานค้นคว้าบางส่วน พบว่าเครื่องเทศบางชนิดอย่างยี่หร่าและขมิ้นอาจมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและจุลินทรีย์ และอาจมีส่วนช่วยในการยับยั้งแบคทีเรียในร่างกายได้เช่นกัน

ป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วย พริกอาจช่วยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ เนื่องจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า พริกอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีและเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีได้ นอกจากนี้ พริกยังอาจมีส่วนช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิต มีสารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งสารแคปไซซินในพริกอาจมีฤทธิ์ช่วยในการรักษามะเร็งบางชนิดได้ แต่ผลการวิจัยเหล่านี้ยังจำเป็นต้องมีหลักฐานทางการค้นคว้าเพื่อยืนยันประสิทธิภาพดังกล่าวให้ชัดเจน

นอกจากพริกแล้ว ยังมีเครื่องเทศชนิดอื่น ๆ ที่ให้ความเผ็ดและมีคุณสมบัติต้านการอักเสบด้วย อย่างขิงและกระเทียมก็ถูกนำมาใช้เป็นการรักษาทางเลือกของโรคหรือการเจ็บป่วยบางชนิดด้วย เช่น โรคข้ออักเสบ โรคภูมิต้านทานต้านตัวเอง อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ เป็นต้น ส่วนเครื่องเทศชนิดอื่น ๆ ที่ให้ความเผ็ดก็ยังอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งมีส่วนช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดในผู้ที่บริโภควิตามินซีเป็นประจำได้ด้วย

วันที่: 
Mon 31 August 2020
แหล่งที่มา: 
pobpad.com/กินเผ็ด-ผลดี-ผลเสีย-และเ
Hits 2,700 ครั้ง