เมลาโทนิน ไม่ใช่ยานอนหลับ แค่ช่วยให้ ง่วงนอน

“เมลาโทนิน” คืออะไร
เมลาโทนินคือฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ที่ทำหน้าที่ควบคุมวงจรการนอนหลับและการตื่นของร่างกาย ซึ่งกลไกการทำงานของต่อมดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับแสงสว่าง และอุณหภูมิ จึงทำให้ในเวลากลางวันต่อมไพเนียลจะไม่ทำงาน แต่เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ต่อมนี้จะเริ่มทำงาน และหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินเข้าไปในกระแสเลือด และมีการระบายความร้อนออกมาจากร่างกาย ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง ลดความตื่นตัวของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีความเหมาะสมกับการนอน และรู้สึกง่วงนอน แต่ถ้าเมลาโทนินหลั่งออกมาน้อยจะทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับได้

โดยปกติแล้ว สมองจะหลั่งสารเมลาโทนินเข้าไปในกระแสเลือดเป็นเวลาติดต่อกัน 12 ชั่วโมง (ช่วงเวลาประมาณ 21.00-09.00 น.) ซึ่งระดับของเมลาโทนินจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงเช้า

ทั้งนี้ ความมืดจะเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนินออกมา เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าถึงเวลาพักผ่อนได้แล้ว ขณะที่แสงสว่างโดยเฉพาะแสงสีฟ้าจากจอโทรศัพท์มือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์ จะยับยั้งการหลั่งสารเมลาโทนินได้ ทำให้คนที่ชอบเล่นมือถือก่อนเข้านอนจึงนอนหลับได้ยากขึ้น

เมลาโทนินไม่ใช่ยานอนหลับ
ประโยชน์ของเมลาโทนินคือการช่วยให้วงจรการนอนหลับเป็นปกติมากขึ้น แต่ไม่ได้รักษาอาการนอนไม่หลับโดยตรง เพียงแต่ช่วยกระตุ้นให้รู้สึกง่วง และนอนหลับได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ยานอนหลับแต่อย่างใด

ปัจจุบัน การนำเมลาโทนินมาใช้ มักมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการเจ็ตแล็ก หรืออาการอ่อนเพลียจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อมีการเดินทางไปต่างประเทศข้ามโซนเวลา หรือนั่งเครื่องบินนาน ๆ

รวมถึงนำมาใช้กับกลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา (Delayed Sleep Phase Syndrome),ใช้ปรับเวลาการนอนสำหรับผู้ที่มีการปรับตารางการทำงานกะทันหัน ผู้ที่นอนหลับยากในเวลากลางคืน และผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาการนอนเนื่องจากร่างกายหลั่งสารเมลาโทนินออกมาน้อยลง

วันที่: 
Thu 1 April 2021
แหล่งที่มา: 
https://www.sanook.com/health/27793/
Hits 1,058 ครั้ง